สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ หัวข้อกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๒ – ข้อตกลงการหย่าร้าง(Het echtscheidingsconvenant) ๑
เรียบเรียงโดย เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ (Y. Wongsuwan)
วัชรี กสิบาล (W. Kasiban)
บรรณาธิการ ยุพิน ขุนรองชู (Y. Khunrongchu)
ภาพโดย สุกานดา ศรีเสน่ห์พร (S. Srisaneporn)
เรียบเรียงจากการอบรมในหัวข้อ Internationaal Privaat Recht, Hoofdlijnen van het Nationaal en Internationaal Famillierecht โดย Dr.I. Curry Sumner จัดขึ้น ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
อ่านตอนที่ ๑ – การหย่าร้าง (Echtscheiding) ได้ที่นี่
นอกเหนือจากการยื่นคำร้องขอหย่าที่เรียกว่า verzoekschrift tot echtscheiding แล้วนั้นคู่สามีภรรยาจะต้องทำการยื่นข้อตกลงการหย่าร้างประกอบต่อศาลในการดำเนินการหย่าด้วยเช่นกัน เรียกว่า Het echtscheidingsconvenant ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างคู่สามีภรรยาเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญต่าง ๆ ดังเช่น ที่อยู่อาศัย ค่าเลี้ยงดู ทรัพย์สิน และเงินบำนาญ
และในกรณีคู่สามีภรรยามีบุตรธิดาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะร่วมกันแล้วนั้น ข้อตกลงการหย่าร้างจะต้องระบุแผนการเลี้ยงดูบุตรในนั้นด้วย หัวข้อหลัก ๆ ในข้อตกลงการหย่าร้างมีดังนี้
1. แผนการเลี้ยงดูบุตร (Ouderschapsplan)
2. ค่าเลี้ยงดูคู่ครอง (Partneralimentatie)
3. เงินบำเหน็จบำนาญ (Pensioenrechten)
4. การแบ่งทรัพย์สินตามกฎหมายสินสมรส (verdeling volgens huwelijksvermogensrecht)
5. สิทธิในทีอยู่อาศัยเนื่องจากการหย่า (huisvesting หรือ woonrecht)
บทความในตอนนี้จะอธิบายเฉพาะหัวข้อหลักในข้อตกลงการหย่าร้างในข้อที่ 1-3 เท่านั้น ส่วนหัวข้อที่ 4-5 สามารถอ่านต่อได้ที่นี่
1. แผนการเลี้ยงดูบุตร (Ouderschapsplan)
ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2009 กฎหมายดัตช์บังคับว่า คู่สามี-ภรรยา หรือคู่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ที่มีบุตรร่วมกัน และบุตรนั้นอายุต่ำกว่า 18 ปี หากประสงค์จะหย่าร้างกัน หรือประสงค์ที่จะแยกกันอยู่แบบ scheiden van tafel en bed จะต้องทำแผนการเลี้ยงดูบุตร (Ouderschapsplan)
จุดประสงค์ของแผนการเลี้ยงดูบุตร (Ouderschapsplan) ก็เพื่อให้ผู้ปกครองคำนึงถึง และมีแผนรองรับผลกระทบการหย่าร้างที่จะมีผลต่อบุตร แผนการเลี้ยงดูบุตรนี้ ผู้ปกครองทั้งคู่จะมีแผนการจัดการเกี่ยวกับทั้งในปัจจุบันและอนาคตของบุตร
รายละเอียดภายในแผนการเลี้ยงดูบุตรจะขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคู่บิดามารดา แต่อย่างน้อยต้องครอบคลุมและมีการตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับ
– อำนาจปกครองบุตร หรือที่เรียกว่า ouderlijke gezag ซึ่งตามกฏหมายนั้นบิดามารดามีอำนาจปกครองบุตรเท่าเทียมกัน ในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ฝ่ายนั้นต้องยื่นร้องขออำนาจต่อศาลต่างหาก แต่การยุติอำนาจปกครองของอีกฝ่ายมิใช่ป็นเรื่องที่ศาลจะอนุมัติให้อย่างง่ายๆ จะอนุมัติก็เฉพาะกรณีจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น
– ที่อยู่อาศัยหลักของบุตร หรือที่เรียกว่า hoofdverblijf (ตามทะเบียนราษฎร์) และการเลี้ยงดูบุตร
– ข้อตกลงในการพบเจอบุตร (omgangsregeling) บุตรมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะติดต่อกับทั้งบิดาและมารดาของตน
– วิธีการที่บิดามารดาจะแจ้งข้อมูลถึงพัฒนาการของบุตรให้แก่กันและกันทราบ และการปรึกษาหารือซึ่งกันและกันในเรื่องที่สำคัญๆ เกี่ยวกับตัวบุตร อย่างเช่นเรื่องโรงเรียน การรักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย
– ค่าเลี้ยงดูบุตร (Kinderalimentatie) และภาระค่าใช้จ่ายของบุตรธิดา ผู้ปกครองตามกฏหมายแล้วนั้นมีหน้าที่จะต้องส่งเสียบุตรธิดาจนกว่าอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ในกรณีที่บุตรธิดาหลังอายุครบ 21 ปี ยังคงศึกษาเล่าเรียนอยู่นั้นผู้ปกครองอาจส่งเสียบุตรธิดาต่ออีกระยะหนึ่งได้ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ข้อกำหนดตามกฏหมาย (กฏหมายไม่บังคับ) แต่เป็นการส่งเสียตามจริยธรรมของความเป็นบิดามารดา ผู้ปกครองที่บุตรธิดาไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่ผู้ปกครองอีกฝ่ายเพื่อนำมาใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรธิดา และค่าเลี้ยงดูนี้จะมีการปรับเปลี่ยนตามดัชนีในตอนต้นปีของทุก ๆ ปี บุตรธิดาเมื่ออายุครบสิบแปดปีจนกระทั่งถึง 21 ปี มีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงดูจากผู้ปกครองโดยตรง นอกเหนือจะมีการตกลงเป็นอย่างอื่น
ค่าเลี้ยงดูบุตรคำนวณบนพื้นฐานความจำเป็นของบุตร โดยคำนึงถึง อายุ จำนวนบุตรธิดา และสภาพความเป็นอยู่ของบุตรในระหว่างชีวิตครอบครัวกับบิดามารดา แต่ต้องคำนึงด้วยว่าบิดามารดาที่บุตรธิดาอาศัยอยู่ด้วยนั้นมีภาระหน้าที่ตามกฏหมายในค่าใช้จ่ายของบุตรธิดาด้วยเช่นกัน และต้องสมทบค่าใช้จ่ายของบุตรธิดาตามสัดส่วนความสามารถในการจ่าย สำหรับเงินช่วยเหลือสำหรับเด็กจากรัฐบาล ดังเช่น เงินเบี้ยเลี้ยงเด็ก (kinderbijslag) และเงินสมทบสำหรับเด็ก (kindgebonden budget) ผู้ปกครองที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยเป็นผู้รับเพื่อนำมาใช้จ่ายสำหรับบุตรธิดาของตน
– ข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งวันหยุดภาคเรียน วันหยุดเทศกาล และวันพิเศษอื่น ๆ และการแบ่งหน้าที่ส่วนร่วมของบิดามารดาในกิจกรรมโรงเรียน
– นอกจากนี้แผนการเลี้ยงดูบุตรยังรวมถึงแผนการการจัดการเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ของบุตรธิดา ที่ตามกฎหมายแล้วต้องได้รับความยินยอมจากทั้งบิดาและมารดา เช่น การขอวีซ่า การทำพาสปอร์ต บัตรประชาชน การรักษาพยาบาล และการเก็บรักษาเอกสารสำคัญเหล่านี้
เนื่องจากการจัดทำแผนการเลี้ยงดูบุตรนี้ กระทำในช่วงเวลาของการดำเนินการหย่าร้าง ซึ่งมีหลายเรื่องต้องดำเนินการไปคู่กัน ดังนั้นมีคำแนะนำว่าสมควรกระทำผ่านความช่วยเหลือจาก “คนกลาง” (mediator) โดยคนกลางจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับบุตรทั้งแผนในปัจจุบันและอนาคต
2. ค่าเลี้ยงดูคู่ครอง (Partneralimentatie)
คู่สามี-ภรรยา หากเมื่อหย่าร้างกัน ฝ่ายที่มีสถานะทางการเงินด้อยกว่า สามารถร้องขอต่อศาลให้อีกฝ่ายจ่ายค่าเลี้ยงดู (Partneralimentatie) ให้แก่ตนได้ ตาม Titel 9, Afdeling 2, Artikel 157
ศาลสามารถตัดสินให้คู่สามี-ภรรยาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ ได้รับค่าเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ ศาลจะพิจารณาจำนวนเงินค่าเลี้ยงดูที่อีกฝ่ายจะต้องจ่ายตาม Behoefte en Draagkracht Behoefte — ในที่นี้หมายถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพสำหรับฝ่ายที่เรียกร้องค่าเลี้ยงดูโดยคำนึงถึงลักษณะการใช้ชีวิตของบุคคลระหว่างสมรส และ Draagkracht — คือความสามารถในการจ่ายค่าเลี้ยงดูของฝ่ายที่ถูกเรียกร้องค่าเลี้ยงดู
ศาลจะกำหนดจำนวนเงินค่าเลี้ยงดูที่จะต้องจ่ายจากจำนวนเงินสุทธิ….เหลือจากการหักลบค่าใช้จ่ายหลักในการดำรงชีพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และค่าประกันสุขภาพของผู้ที่มีหน้าที่จ่าย ค่าใช้จ่ายสำคัญเหล่านี้รวมกันเรียกว่า draagkrachtloos inkomen เป็นเงินรายได้ที่ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูจำเป็นต้องมีไว้เพื่อการดำรงชีพของตนและไม่สามารถจะนำมาจ่ายค่าเลี้ยงดูได้ หากหลังการหักลบแล้วปรากฏว่ายังคงมีจำนวนเงินหลงเหลืออยู่บุคคลจึงจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู
การกำหนดจำนวนเงินค่าเลี้ยงดูนี้เป็นเรื่องซับซ้อน จึงต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่นทนาย หรือคนกลาง โดยใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า Trema-normen
ภาระหน้าที่ในการจ่ายค่าเลี้ยงดูจะเป็นระยะเวลาสูงสุด 12 ปี แต่หากแต่งงานกันไม่ถึง 5 ปี ภาระหน้าที่ในการจ่ายค่าเลี้ยงดูจะเป็นระยะเวลาตามเวลาที่เคยอยู่ร่วมกัน และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ถือว่าภาระในการจ่ายค่าเลี้ยงดูสิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน
ภาระหน้าที่ในการจ่ายค่าเลี้ยงดูอาจสิ้นสุดลงก่อนเวลาได้ หากฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงดูมีพันธะกับคนใหม่ เช่น อยู่ร่วมกัน แต่งงานกัน หรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ กับคนอื่น (Titel 9, Afdeling 2, Artikel 160)
3. เงินบำเหน็จบำนาญ (Pensioenrechten)
การหย่าร้าง มีหลายเรื่องให้ต้องจัดการ นอกจากเรื่องการแบ่งสินสมรส การเลี้ยงดูบุตร เงินค่าเลี้ยงดูต่างๆ แล้ว ยังต้องมีการจัดการเรื่องของเงินบำนาญ (pensioen) ด้วย
เงินบำนาญที่ต้องจัดการตามการหย่าร้าง ในที่นี้จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ouderdomspensioen และ nabestaandenpensioen ส่วนเงินผู้สูงอายุ หรือเงินบำนาญพื้นฐาน (AOW) ไม่จำเป็นต้องแบ่งกันแต่อย่างใด
-
-
- ouderdomspensioen
-
คู่สามี-ภรรยาถึงแม้ว่าจะหย่าร้างกันไปแล้ว แต่ก็ยังมีสิทธิ์ในเงินบำนาญของอีกฝ่าย โดยได้รับเป็นสัดส่วนตามระยะเวลาที่เคยอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่วนต่างเงินบำเหน็จบำนาญ ยกเว้นแต่ว่าคู่สามี-ภรรยานั้นได้มีการตกลงทำสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น
-
-
- nabestaandenpensioen
-
นอกเหนือจากการมีบำนาญแบบ ouderdomspensioen แล้ว ยังสามารถที่จะทำบำนาญแบบ nabestaandenpensioen โดยคู่สามี-ภรรยาอีกฝ่ายจะได้รับเงินบำนาญเมื่ออีกฝ่ายที่มีการทำบำนาญแบบ nabestaandenpensioen เสียชีวิตลง ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะหย่าร้างกันไปแล้วก็ตาม โดยจำนวนเงินที่ได้จะเป็นสัดส่วนไปตามระยะเวลาที่เคยแต่งงานอยู่ร่วมกัน
อ่านตอนที่ ๓ – ข้อตกลงการหย่าร้าง (Het echtscheidingsconvenant) – (ต่อ) ได้ที่นี่
Link เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม
2 Comments
สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ เรื่องกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๑ – การหย่าร้าง (Echtsch
January 29, 2017at 4:22 pm[…] คลิกเพื่ออ่าน ตอนที่ ๒ – ข้อตกลงการหย่าร้าง(Het echtscheidings… […]
สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ หัวข้อกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๓ – ข้อตกลงการหย่า
May 21, 2017at 4:09 pm[…] อ่านตอนที่ ๒ – ข้อตกลงการหย่าร้าง (H… […]