สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ เรื่องกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๑ – การหย่าร้าง (Echtscheiding)

  • 2
Echtscheiding wet training

สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ เรื่องกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๑ – การหย่าร้าง (Echtscheiding)

เรียบเรียงโดย วัชรี กสิบาล (W. Kasiban)

บรรณาธิการ  เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ (Y. Wongsuwan)

ยุพิน ขุนรองชู (Y. Khunrongchu)

ภาพโดย สุกานดา ศรีเสน่ห์พร (S. Srisaneporn)

 

เรียบเรียงจากการอบรบในหัวข้อ Internationaal Privaat Recht, Hoofdlijnen van het Nationaal en Internationaal Famillierecht โดย Dr.I. Curry Sumner จัดขึ้น ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙

 


 

โครงสร้างของกฏหมายดัตช์

กฎหมาย (Recht) ของประเทศเนเธอร์แลนด์ แบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่ใหญ่ ๆ คือ กฎหมายเอกชน (Privaat recht หรือ Burgerlijk recht) และ กฎหมายมหาชน (publiekrecht)

ในส่วนของกฎหมายเอกชน มีแบ่งแยกออกเป็นหมวดหมู่ย่อยภายใต้ Burgerlijk Wetboek  ซึ่งมีทั้งหมด 10 หมวดหมู่ย่อยด้วยกัน และกฎหมายครอบครัว (Personen- en familierecht) จะอยู่ใน Wetboek เล่มที่ 1

ซึ่งในแต่ละ Wetboek ก็มีแยกย่อยออกเป็น Titel (หัวข้อ) และแต่ละ Titel ก็แบ่งแยกย่อยเป็น Afdeling (หัวข้อย่อย) และแต่ละ Afdeling ก็แบ่งออกเป็น Artikel (มาตรา)อีกต่อหนึ่ง

สรุปเรียงลำดับหัวข้อในกฎหมายดัตช์จากใหญ่ไปหาเล็ก เป็นดังนี้

Privaatrecht  –>  Wetboek  –>  Titel  –>  Afdeling  –>  Artikel

 

ในบทความนี้จะกล่าวถึง กฎหมายเรื่องการหย่าร้าง (Echtscheiding) เป็นสำคัญ ซึ่งอยู่ใน Titel 9 Ontbinding van het huwelijk ใน Afdeling 2 Echtscheiding

 

การสิ้นสุดการสมรส (Ontbinding van het huwelijk in het algemeen)

การสิ้นสุดการสมรส สามารถสิ้นสุดได้ด้วยการ (Titel 9, Afdeling 1, Artikel 149)

ก. การตาย

ข. การเป็นบุคคลสาบสูญตามประกาศของกฎหมาย

ค. การหย่าร้าง

ง. การสิ้นสุดการสมรสโดยการแยกกันอยู่ ที่เรียกว่า scheiding van tafel en bed

 

การสิ้นสุดการสมรสด้วยการแยกกันอยู่ (Ontbinding van het huwelijk na scheiding van tafel en bed)

การสิ้นสุดการสมรสด้วยวิธีการแยกกันอยู่ หรือที่เรียกว่า Ontbinding van het huwelijk na scheiding van tafel en bed มีจุดเริ่มต้นมาจากศาสนา เนื่องด้วยศาสนาคริสต์มีความเชื่อว่า การแต่งงานคือความผูกพันธ์ไปชั่วชีวิต ไม่มีการหย่าร้าง ดังนั้นหากคู่สมรสใดต้องการจะสิ้นสุดชีวิตคู่ กฎหมายก็เปิดช่องให้สามารถแยกกันอยู่ได้ แต่ไม่หย่าขาดจากกัน – ปัจจุบัน การสิ้นสุดการสมรสด้วยวิธีนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ศาสนาคริสต์เท่านั้น คู่สมรสทุกคู่ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด สามารถยื่นเรื่องทำการแยกกันอยู่ด้วยวิธีนี้ได้

การแยกกันอยู่แบบ scheiding van tafel en bed โดยทั่วไป สถานภาพการสมรสจะสิ้นสุดลงเมื่อแยกกันอยู่ครบสามปี (Titel 10, Afdeling 2, Artikel 179)

อนึ่ง การสิ้นสุดการสมรสด้วยวิธี scheiding van tafel en bed สามารถกระทำได้เฉพาะ “คู่สมรส” ที่แต่งงานกันเท่านั้น คู่พาร์ทเนอร์ที่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ไม่สามารถทำการสิ้นสุดการเป็นพาร์ทเนอร์ด้วยวิธีนี้

 

การหย่าร้าง (Echtscheiding)

(Titel 9, Afdeling 2) การหย่าร้างเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแม้เพียงฝ่ายเดียว ยื่นความประสงค์ที่จะยุติชีวิตคู่ คู่สมรสที่ประสงค์จะหย่าร้าง จะสำเร็จได้ ต้องกระทำผ่านทนายความ (Advocaat) และได้รับการรับรองจากศาล (Rechtbank) เท่านั้น โดยกระบวนการทางศาลนี้เรียกว่า Echtscheidingprocedure

การหย่าร้างอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นด้วยการเขียนคำร้อง “Verzoekschrift tot echtscheiding” ผ่านทนายซึ่งเป็นคำร้องขอให้ศาลสั่งยุติการสมรส ศาลจะสั่งให้การสมรสยุติลงก็ต่อเมื่อเห็นว่า ชีวิตสมรสของทั้งคู่นั้นร้าวฉานจนไม่อาจหวนคืนกลับมาเป็นดังเดิมได้ (duurzaam ontwricht)

แต่เนื่องจากคู่สามี-ภรรยาที่ต้องการจะหย่าร้างกันนั้น ในช่วงระยะเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จะมีพันธะทั้งทางด้านการเงิน สินสมรส ธุรกิจ บุตร ให้ต้องจัดการแบ่งกันก่อนที่การหย่าร้างจะมีผลสมบูรณ์ และรวมถึงเรื่องค่าเลี้ยงดูหลังจากการหย่าร้างด้วย

ดังนั้นจึงต้องมีการยื่นคำร้องของ “verzoek tot vastlegging van een bijdrage in het levensonderhoud “ (การยื่นคำร้องเกี่ยวกับการจ่ายค่าเลี้ยงดูเพื่อให้อีกฝ่ายที่มีสถานะทางการเงินด้อยกว่า สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้) “verzoek tot verdeling van het vermogen” (คำร้องเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรส) และหากคู่สามี-ภรรยาที่ต้องการหย่าร้าง มีบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปีร่วมกัน กฎหมายบังคับว่าต้องทำ “Ouderschapsplan” (แผนการเลี้ยงดูบุตร) ด้วย

ระยะเวลาที่ใช้ในขั้นตอนนี้ หากเป็นการเลิกกันโดยสมัครใจของทั้งสองฝ่าย จะใช้เวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ และสามารถใช้ทนายคนเดียวกันได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวต้องการหย่า หรือคู่สามี-ภรรยาไม่สามารถทำข้อตกลงกันได้เกี่ยวกับพันธะหนึ่งใดดังกล่าวข้างต้น ทั้งคู่ต่างมีทนายเป็นตัวแทนของตนเอง กระบวนการนี้อาจยืดเยื้อได้เป็นปีๆ (เรียกว่า vechtscheiding)

ในระหว่างที่เดินเรื่องยื่นฟ้องหย่า หรือกำลังฟ้องหย่า คู่สามี-ภรรยาที่ต้องการหย่า สามารถยื่นเรื่องร้องผ่านทนาย ขอให้ศาลทำการตัดสินเร่งด่วน ในเรื่องด่วนที่บางครั้งรอไม่ได้ แต่เป็นคำตัดสินแบบชั่วคราวที่เรียกว่า “voorlopige voorziening” ได้ ซึ่งอาจเป็นการขอคำตัดสินเกี่ยวกับการพบเจอลูก ที่อยู่อาศัย หรือเงินค่าเลี้ยงดู และเมื่อใดที่มีการตัดสินออกมาตามกระบวนการทางศาลตามปกติแล้วนั้น คำตัดสินชั่วคราวก็จะหมดผลลง

สิ่งสำคัญ ในกรณีของการร้องขอ voorlopige voorziening ก่อนการฟ้องหย่านั้น ภายในสี่อาทิตย์หลังมีการตัดสินเกี่ยวกับ voorlopige voorziening คู่สามี-ภรรยาที่ได้ยื่นขอการตัดสินชั่วคราว จะต้องทำการยื่นคำร้อง “Verzoekschrift tot echtscheiding”  ต่อศาลเพื่อดำเนินการฟ้องหย่าตามกระบวนการปกติ มิเช่นนั้นถือว่าคำตัดสินไม่มีผลตามกฏหมายแต่อย่างใด

คู่สามี-ภรรยาที่ต้องการหย่าร้างต้องทำการตกลงเรื่องค่าเลี้ยงดู การแบ่งสินสมรส และแผนการเลี้ยงดูบุตร กันโดยผ่านทนาย (advocaat) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย (คู่สามี-ภรรยาอาจจะใช้ทนายร่วมกันก็ได้ ในกรณีที่เป็นการเลิกจากกันด้วยดี) เมื่อตกลงกันได้เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นทนายจะจัดทำเอกสารที่เรียกว่า “Echtscheidingsconvenant  ยื่นส่งต่อศาล

เอกสาร “Echtscheidingsconvenant”  จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อตกลงขอคู่สามี-ภรรยาที่ต้องการจะหย่า เกี่ยวกับเรื่องค่าเลี้ยงดู เรื่องผู้ดูแลบุตร สินทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และเงินบำนาญ

ผู้พิพากษามีหน้าที่ดูว่าเอกสาร “Echtscheidingsconvenant” นั้นมีรายละเอียดครบถ้วน เรียบร้อยดีหรือไม่ – ในกรณีนี้ผู้พิพากษาไม่มีหน้าที่ในการตัดสินว่าเอกสาร “Echtscheidingsconvenant”  นั้นมีความยุติธรรมหรือไม่

แต่หากตกลงในส่วนใดส่วนหนึ่งกันไม่ได้ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถยื่นเรื่องให้ผู้พิพากษาทำการตัดสินได้ และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ก็สามารถทำเรื่องขออุทธรณ์คำตัดสิน (hoger beroep) ได้ ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์คือภายในสามเดือนนับจากวันพิพากษา ในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาปรากฏตัวที่ศาลเพื่อการตัดสิน ให้นับจากวันที่คู่กรณีได้รับแจ้งข่าวอย่างเป็นทางการ

การหย่าร้างจะมีผลอย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อคำประกาศการหย่าโดยคำพิพากษาของศาลได้รับการลงทะเบียนในฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์ (de burgerlijke stand) แล้วเท่านั้น โดยทนายความจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับจากศาลมีคำพิพากษา หากมิเช่นนั้นแล้วจะนับว่าการหย่าร้างเป็นโมฆะ

 

คลิกเพื่ออ่าน ตอนที่ ๒ – ข้อตกลงการหย่าร้าง(Het echtscheidingsconvenant) ๑

14881258_10154604561704174_1834588944_o

Link เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม

  1. Echtscheiding-wijzer

      2. Wetten.overheid.nl

 

 


2 Comments

สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ หัวข้อกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๒ – ข้อตกลงการหย่า

January 28, 2017at 11:03 pm

[…] […]

สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ หัวข้อกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๓ – ข้อตกลงการหย่า

January 30, 2017at 6:04 pm

[…] […]