เหลียวหลัง แลหน้า การทำงานอาสาสมัครของคนไทยในต่างแดน
เรียบเรียงโดย วัชรี กสิบาล
เรียบเรียงจากการบรรยายในหัวข้อ “เหลียวหลัง แลหน้า การทำงานอาสาสมัครของคนไทยในประเทศเยอรมนี” ของ ดร.พัทยา เรือนแก้ว ประธานสมาคม NTO ที่งานสัมนา “เพื่อนคู่คิด พี่สอนน้อง” ณ เมืองมันไฮน์ วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๙
ถึงแม้ว่าการบรรยายครั้งนี้ ผู้บรรยายจะกล่าวถึงผลของงานวิจัยจากการเก็บข้อมูลการทำงานอาสาสมัครของคนไทยในเยอรมนีเป็นสำคัญ แต่ผู้เรียบเรียงเห็นว่า เนื้อหาในการบรรยายนี้มีประโยชน์ และสามารถมาปรับใช้กับการทำงานอาสาสมัครไทยในต่างแดนประเทศอื่นๆ ได้
เหลียวหลัง
ความเป็นมาของงานอาสาสมัครไทยในเยอรมนี
งานอาสาสมัครไทยในเยอรมนีมักเริ่มขึ้นจากการเป็นล่าม โดยเมื่อช่วงศตวรรษที่ ๘๐ เมื่อมีหญิงไทยจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาประเทศเยอรมนี และบางส่วนของหญิงไทยเหล่านี้ ก็เข้ามาเพื่อทำงานค้าบริการทางเพศ หรือบ้างก็เข้ามาเพื่อแต่งงานกับชายชาวเยอรมันโดยผ่านสำนักงานจัดหาคู่ ทำให้ภาพพจน์ของหญิงไทยเป็นที่รู้จักในสังคมเยอรมันในขณะนั้นว่า เป็น “หญิงบริการทางเพศ” หรือไม่ก็ “เมียสั่งทางไปรษณีย์” และต่อมาเมื่อหญิงไทยเหล่านี้ ประสบปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ ล่ามจึงเป็นบุคลากรที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับตำรวจ และหน่วยงานราชการเยอรมนี เพื่อช่วยในการสื่อสารระหว่างหญิงไทยที่ประสบปัญหากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
แต่เนื่องจากองค์กรของเยอรมันที่ทำงานช่วยเหลือหญิงต่างชาติที่ประสบปัญหาในเยอรมนี ที่มีเจ้าหน้าที่คนไทยทำงานมีจำนวนจำกัด เมื่อหญิงไทยมีปัญหาจึงมักหันมาพึ่งเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเอง ที่มีความรู้ดี และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเยอรมัน คนไทยเหล่านี้จึงกลายมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่คนไทยที่มีปัญหา และกลายมาเป็นอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือคนไทยในที่สุด นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานอาสาสมัครไทยในเยอรมนี
คนที่มาเป็นอาสาสมัครนั้น มักเป็นคนที่มีความพร้อมทั้งด้านครอบครัว และฐานะทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่มีการศึกษาค่อนข้างดี มีความรู้ภาษาเยอรมันในระดับที่ดี สามารถเข้าใจและติดต่อราชการได้
หากแต่ว่างานอาสาสมัครส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็นงานสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่การสอนให้ผู้ประสบปัญหาสามารถแก้ปัญหา และยืนได้ด้วยตัวเองในระยะยาว
จากอาสาสมัครที่ทำงานช่วยเหลือคนไทยที่ทำงานเป็นลักษณะปัจเจกบุคคล ก็พัฒนามาเป็นกลุ่มหญิงไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะดำเนินกิจกรรมทางสังคม ช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อน สิ่งหนึ่งที่หญิงไทยเหล่านี้ตระหนักเป็นอย่างดีก็คือ การดำเนินการใด ๆ หากร่วมกัน ย่อมจะมีพลังและประสิทธิผลมากกว่าการดำเนินการเพียงลำพัง กลุ่มในลักษณะนี้กลุ่มแรก คือ ธารา (THARA)
เมื่อพิจารณาตามวัตถุประสงค์ และการดำเนินงาน อาจมองได้ว่ากลุ่มคนไทยมี ๓ ประเภท คือ
๑. กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรักษา ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และพิธีกรรมของไทย
๒. กลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อรักษาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย
๓. กลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมทางสังคมเพื่อการช่วยเหลือตนเอง
โดยกิจกรรมที่ดำเนินงานของกลุ่มประเภทที่ ๓ ได้แก่
– เผยแพร่ความรู้ ที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ แก่ประชาชนไทยในเยอรมนี
– เผยแพร่วัฒนธรรมไทยในประเทศเยอรมนี
– เสริมสร้างศักยภาพของอาสาสมัครไทยในเยอรมนี
จุดอ่อนของการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครไทย
– ทำงานเลียนแบบกัน ไม่มีนวัตกรรม
– ไม่มีการปรับดัดแปลง หรือมีความพยายามน้อยที่จะ พัฒนาให้เกิดแนวคิดของตน หรือให้เหมาะกับประเทศที่ตนอยู่ ตัวอย่างเช่น เมื่ออาสาสมัครไทยในต่างแดน ต้องการที่จะจัดสัมนา ก็มักจะคิดถึงวิทยากรจากเมืองไทยเป็นอันดับแรก ทั้งๆที่ในประเทศที่ตนอยู่ก็มีคนที่มีความสามารถอยู่มาก เพียงแต่เขาเหล่านั้นไม่ใช่คนไทย พูดไทยไม่ได้
– ไม่มีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่มีการวางแผน ไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้งานอาสาสมัครเป็นไปในเชิงตั้งรับ มีลักษณะเป็นงานสังคมสังเคราะห์ ไม่มีการวางแผนระยะยาว
– ไม่มีการเรียนรู้จากงานที่มีมาก่อน ไม่ทบทวน ทำให้หลายครั้งเกิดการกระทำผิดซ้ำๆ
– ไม่มีการจัดเก็บ จดบันทึกข้อมูล ทำให้องค์ความรู้ไม่ได้ถ่ายทอดจากอาสาสมัครรุ่นสู่รุ่น
– ในระหว่างสมาคม หรือระหว่างกลุ่มอาสาสมัครกันเอง ไม่มีการทำงานร่วมกัน บางครั้งก็มองดูเหมือนเป็นการแข่งขันกันเอง (เนื่องจากทำงานเลียนแบบกัน)
– ด้วยนิสัยไทยๆ ทำให้อาสาสมัครหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นต่อหน้า โดยเฉพาะความคิดเห็นในเชิงลบ
สาเหตุ
– ขาดประสบการณ์ ทักษะในการทำงานองค์กร
– ขาดทักษะในการพัฒนากระบวนการคิด วิพากษ์ตนเอง ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการพัฒนาตนเอง หากรู้จักวิพากษ์ตนเอง จะทำให้เห็นจุดด้อยของตน และปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
– ยึดติดกับการทำงานแบบไทยๆ เช่น ระบบอาวุโส ทำให้ไม่กล้าที่จะเถียง หรือแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้ที่อาวุโสกว่า หรือคิดว่าผู้อาวุโสที่ตนเคารพทำอะไรก็ดี ก็ถูกเสมอ เนื่องจากมีความภักดีในตัวบุคคล แทนที่จะมาคิดพิจารณาโดยใช้วิจารณญาณของตัวเอง ว่าการกระทำใดถูก การกระทำใดชอบ
– ไม่ชัดเจนในด้านแรงจูงใจ แรงบันดาลใจว่าเข้ามาทำงานอาสาสมัครเพราะอะไร บางคนเข้ามาทำงานอาสาสมัครเพราะต้องการได้รับการยอมรับในสังคม แต่บางคนก็ด้วยจิตใจที่ต้องการช่วยเหลือจริง ๆ
แลหน้า
แนวทางปรับปรุงงานอาสาสมัครไทยในต่างแดน
เมื่อทราบจุดอ่อนของงานอาสาสมัครไทยในต่างแดน และสาเหตุแล้ว ต่อไปคือทางที่จะปรับปรุงให้งานอาสาสมัครไทยดียิ่งขึ้น
– ควรมีการสร้างทักษะในการทำงานองค์กร เช่น อบรมเทคนิคการบริหารจัดการ เทคนิคการฟัง – ซึ่งสำคัญมาก เพราะงานอาสาสมัครส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการฟัง เช่น ฟังปัญหาของผู้ได้รับความเดือดร้อน ฟังการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์จากเพื่อนอาสาสมัครด้วยกัน และเรียนรู้ในการแสดงความคิดเห็น
– การสร้างทักษะในการทำงานเป็นทีม ให้ทุกๆ คนในกลุ่มอาสาสมัครมีอุดมการณ์ร่วมกัน มีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของทีม และเป็นส่วนที่จะขับเคลื่อนกลุ่มของตนให้ก้าวไปข้างหน้า
– สร้างทักษะในการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มอาสาสมัคร แสวงหาจุดร่วมระหว่างกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ เพื่อให้ทำงานประสานงานกันได้อย่างราบรื่น
– สร้างทักษะในเรื่องกระบวนการจัดการความคิด (Idea management)
– เรียนรู้เรื่องการจัดเก็บเอกสารเพื่อการถ่ายทอดความรู้จากอาสาสมัครรุ่นพี่ไปยังอาสาสมัครรุ่นน้อง และเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ขององค์กร
– ฝึกทักษะการรู้จักตนเอง หาเป้าหมายในการทำงานเพื่อให้สามารถทำงานอาสาสมัครได้อย่างยั่งยืน ไม่เดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัว
– ทำงานอย่างมืออาชีพ การเป็นมืออาชีพในที่นี้หมายถึง ถึงแม้ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้อยากทำงาน แต่อาสาสมัครก็ยังทำงานที่ได้รับมอบหมายนั้นอย่างดี อย่างมีความรับผิดชอบ ตัดสินใจ วางแผนงานได้เอง
“…เวลานี้เราขาดคน ที่จะยอมตนเป็นอิฐก้อนแรกที่ทิ้งลงไป และก็จมอยู่ที่นั้น เพื่อให้ก้อนอื่นๆ ถมทับตนอยู่ที่นั่น และเสร็จแล้ว เจ้าก้อนที่จะปรากฎเป็นผู้รู้จักของสังคมก็คือ ก้อนที่อยู่เหนือก้อนอื่นสุด ส่วนก้อนแรกนั้น ก็จมดินอยู่นั่นเอง เราหาคนอย่างนี้ไม่ค่อยได้ จึงไม่ค่อยมีอะไรที่ใหม่ที่มีคุณค่าออกมา…” โกมล คีมทอง |