
สรุปจากงานสัมนา “เพื่อนคู่คิด พี่สอนน้อง” ณ เมืองมันไฮน์ วันที่ ๒๔-๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๙
ภาพและเรื่องโดย : วัชรี กสิบาล
ชมรมสื่อสัมพันธ์คนไทยในยุโรป เครือข่ายสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกับสมาคมธารา โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการฝึกอบรมในหัวข้อ “เพื่อนคู่คิดพี่สอนน้อง” ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ. Best Western Premier Steubenhof Hotel SteubenStrasse 66, 68199 Mannheim ซึ่งเป็นการสัมนาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนะนำจากอาสาสมัครรุ่นอาวุโส แก่อาสาสมัครรุ่นใหม่ในเรื่องบทบาทของการทำงานอาสาสมัครจิตอาสาในต่างแดน ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพทางด้านต่างๆกันเช่นอาชีพล่ามหรือนักแปล อาชีพแพทย์พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ พร้อมการความสำคัญและประโยชน์ในการจดทะเบียนเป็น องค์กรสาธารณประโยชน์ในต่างแดน ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ในงานนี้ ตัวแทนของสมาคมล่ามและนักแปลไทย-ดัตช์ อันได้แก่ นางปูชิตา รักวิทย์ ประธานสมาคมล่ามฯ, นางวิกานดา เผ่าดิษฐ์ ที่ปรึกษาสมาคมล่ามฯ และ นางสาววัชรี กสิบาล ได้เข้าร่วมในงานสัมนาครั้งนี้ด้วย

ผลงานผัก-ผลไม้แกะสลักจากงานสัมนา“อาหารไทยไฉไลในต่างแดน” ซึ่งจัดขึ้นวันก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยวิทยากรแชมป์แกะสลัก สมรักษ์ อู่คล้า

ผู้เข้าร่วมสัมนาในครั้งนี้ มาจากหลากหลายเมืองในประเทศเยอรมนี และจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์
คุณ ปราณีกล่าวว่า ปัญหาของหญิงไทยในเยอรมนีส่วนใหญ่ คือ ปัญหาครอบครัว อันเนื่องมาจากการผิดไปจากความคาดหวัง ภาษา ระดับการศึกษาที่ต่างกัน การหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นในเยอรมนี แต่ชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างที่ฝันไว้ โดยปัญหาครอบครัวส่วนใหญ่ จะเนื่องมาจากหญิงไทยต้องส่งเงินให้ที่บ้านที่เมืองไทย และฝ่ายชายเยอรมันไม่เข้าใจในวัฒนธรรมข้อนี้
คุณปราณีพยายามเน้นว่า การเรียนภาษาของประเทศที่ตนอยู่เป็นสิ่งสำคัญ ปัญหาบางอย่าง สาเหตุอาจไม่ใช่มาจากตัวเราก็จริง แต่ควรปรับตัวเราก่อน และกล่าวย้ำว่าผู้ทำงานจิตอาสา จะมีหน้าที่เพียงให้คำแนะนำที่ถูกต้อง โดยนำเสนอทางเลือกให้ผู้ประสบปัญหาให้ครอบคลุม แต่ไม่ใช่คนตัดสินใจ คนตัดสินใจทางที่จะแก้ปัญหาคือตัวผู้ประสบปัญหาเองเท่านั้น
คุณอภิญญาทำงานกับหน่วยงานเยอรมันชื่อ Fraueminformationszentrum หรือ FIZ ที่เมือง Stuttgart
ซึ่ง FIZ เป็นองค์กรเอกชนที่ให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือแก่หญิงที่เป็นเหยื่อในการค้ากาม หญิงที่ย้ายถิ่นตามสามีมาอยู่ประเทศเยอรมนี และหญิงที่อพยพมาประเทศเยอรมนีเพื่อทำงานใช้แรงงาน เช่น งานแม่บ้าน งานทำความสะอาด
โดยจุดเด่นของ FIZ คือ FIZ จะให้คำแนะนำแก่ผู้หญิงเหล่านั้นเป็นภาษาแม่ของผู้หญิงเหล่านั้น FIZ จะทำงานร่วมกับทนาย องค์กรท้องถิ่นของเยอรมนีให้การให้ความช่วยเหลือ โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาเหล่านั้นพ้นจากปัญหา และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
คุณศรีนภาเล่าถึงความเป็นมาของสมาคมไทยอาสา ที่ปัจจุบันก่อตั้งมา 10 ปีแล้ว โดยงานอาสาแรกที่สมาคมทำ คือการสอนภาษาเยอรมัน
นอกจากนี้ สมาคมไทยอาสา ยังทำงานด้านสาธาณประโยชน์อื่นๆ เช่น สอนภาษาไทย รำไทย ดนตรีไทย เป็นศูนย์ กศน. และมีการให้ข้อมูลแก่ผู้เดือดร้อน หรือส่งต่อผู้เดือดร้อนไปให้องค์กรอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
สุดท้าย คุณศรีนภา ได้ฝากข้อคิดไว้ว่า การมีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่นต้องไม่ทำให้เดือดร้อนแก่ตัวเองและครอบครัว และต้องไม่ใช่การช่วยผู้อื่นแบบพ่อแม่รังแกฉัน คือการช่วยควรเป็นการช่วยแบบที่ให้ผู้ประสบความเดือนร้อนสามารถช่วยเหลือตนเอง พึ่งตนเองได้ในระยะยาว

คุณณัฐพงษ์ บุตรดี ยูเฟอร์ ประธานสมาคมล่ามและนักแปล บรรยายเรื่อง “ความคืบหน้า และการทำงานของสมาคมล่ามและนักแปล รวมทั้งสำหรับบุคคลประกอบอาชีพล่ามและนักแปลอยู่แล้ว และล่ามและนักแปลรุ่นใหม่”
คุณณัฐพงษ์ได้เล่าความคืบหน้าของสมาคมล่ามและนักแปลไทย-เยอรมัน ว่าสมาคมนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมคนรุ่นน้องที่อยากประกอบอาชีพเป็นล่าม โดยในปีนี้ จะมีการจัดคอร์สเพื่อให้ความรู้เรื่องการสอบล่าม คอร์สแนะนำสำหรับคนที่จะเริ่มธุรกิจล่าม การทำบัญชี การหาข้อมูลต่างๆ
นอกจากนี้คุณณัฐพงษ์ยังเล่าด้วยว่า การสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นล่ามสาบานในปีหน้า จะมีการเน้นเรื่องกฎหมายเยอรมันมากขึ้น โดยรัฐบาลได้จัดประชุมเรื่องการออกข้อสอบนี้ ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ในการประชุมจะมีการเชิญนักกฏหมาย และตัวแทนล่ามสาบานตนเข้ามาร่วมถกในการออกข้อสอบ ซึ่งคุณณัฐพงษ์ ในฐานะตัวแทนสมาคมล่ามและนักแปลไทย-เยอรมัน ก็ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

คุณปูชิตา รักวิทย์ ประธานสมาคมล่ามและนักแปลไทย-ดัตช์ บรรยายเรื่อง “ประสบการณ์การเป็นล่ามในประเทศเนเธอร์แลนด์”

ดร. พัทยา เรือนแก้ว ประธานสมาคม เอ็น ที โอ บรรยายเรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า การทำงานขออาสาสมัครของคนไทยในเยอรมนี”
เนื่องด้วยห้วข้อ และเนื้อหาในการบรรยายของ ดร. พัทยา มีความน่าสนใจมาก ดังนั้นทางสมาคมล่ามและนักแปลไทย-ดัตช์ จึงขอแยกออกเป็นบทความต่างหาก