ข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน และสัญญาก่อนแต่งงาน (Samenlevingscontract & Huwelijkse voorwaarden)

  • 2

ข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน และสัญญาก่อนแต่งงาน (Samenlevingscontract & Huwelijkse voorwaarden)

รวบรวมโดย วัชรี กสิบาล

ประเภทการอยู่ร่วมกันของคู่รัก

การอยู่ร่วมกันของคู่รักในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในทางกฏหมาย สามารถเป็นไปได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. Gewoon samenwonen (อาศัยอยู่ร่วมกัน)

            Gewoon samenwonen คือการมาอาศัยอยู่ร่วมกันของคนรัก ในบ้านเดียวกัน อาจจะเป็นการขอของย้ายมาอยู่ด้วยกันเฉยๆ หรือมีการทำสัญญาอย่างเป็นทางการในการอยู่ร่วมกันก็ได้

            การอยู่ร่วมกันแบบนี้ ทรัพย์สิน สินทรัพย์และหนี้สินของทั้งคู่แยกจากกันโดยอัตโนมัติ คู่รักต่างฝ่ายต่างไม่มีสิทธิและภาระผูกพันทางการเงินซึ่งกันและกัน ร่วมถึงเงินบำนาญของอีกฝ่ายด้วย ดังนั้นหากเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต อีกฝ่ายก็จะไม่ได้รับเงินบำนาญของอีกฝ่าย

คู่รักที่ตกลงใจจะอยู่ร่วมกันด้วยวิธีนี้ สามารถให้ทนายความโนตาริสร่างสัญญา หรือเขียนสัญญาขึ้นด้วยตนเองเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน  ที่เรียกว่า “Samenlevingscontract” หรือ “Samenlevingsovereenkomst” ได้ ซึ่งภายในสัญญาจะมีรายละเอียดต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายร่วมกัน ทรัพย์สินร่วมกัน ที่อยู่อาศัยร่วมกัน และเงินบำนาญร่วมกัน เป็นต้น

  1. Huwelijk (การแต่งงานจดทะเบียนสมรส)

            ภายใต้กฏหมายเนเธอร์แลนด์ระบุว่าการแต่งงานจดทะเบียนสมรสเป็นการรวมทุกอย่างของคู่รักเข้าด้วยกัน หมายความว่า หากคู่รักฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และหนี้สินของทั้งคู่จะต้องถูกนำมาแบ่งครึ่ง ครึ่งหนึ่งเป็นส่วนของคู่สมรส และอีกครึ่งเป็นส่วนของผู้ตาย (ซึ่งคือส่วนมรดกของผู้ตายนั่นเอง) การหย่าร้างก็ใช้หลักการเช่นเดียวกันนี้

หากคู่สมรสมีสินทรัพย์ หรือหนี้สินที่ประสงค์จะให้จัดเก็บแยกต่างหาก ไม่ให้กลายเป็นสินสมรส เช่น คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือมีบริษัทที่เป็นของครอบครัว คู่สมรสคู่นั้นก็สามารถให้ทนายความโนตาริสร่างสัญญาก่อนสมรส หรือที่เรียกว่า “Huwelijkse Voorwaarden” ได้

  1. Geregistreerd partnerschap (การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์)

            ภายใต้กฏหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ระบุว่า การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์เป็นการรวมทุกอย่างของคู่พาร์ทเนอร์เข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับการแต่งงานจดทะเบียนสมรส หากการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ต้องสิ้นสุดลงเนื่องด้วยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และหนี้สินของทั้งคู่จะต้องถูกนำมาแบ่งครึ่ง ครึ่งหนึ่งเป็นส่วนของคู่สมรส และอีกครึ่งเป็นส่วนของผู้ตาย (ซึ่งคือส่วนมรดกของผู้ตายนั่นเอง) การหย่าร้างก็ใช้หลักการเช่นเดียวกันนี้ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และหนี้สินของทั้งคู่จะถูกนำมารวมกัน และหารครึ่งเท่าๆ กัน

หากคู่พาร์ทเนอร์ประสงค์ที่จะให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สิน หนี้สิน ก็สามารถกระทำได้ โดยให้ทนายความโนตาริสร่างสัญญาก่อนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ หรือที่เรียกว่า “Partnerschapsvoorwaarden

 

ความแตกต่างระหว่างการจดทะเบียนสมรส และการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์

มีความแตกต่างเพียง 2 ประการ ระหว่างการจดทะเบียนสมรส (Huwelijk) กับการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ (geregistreerd partnerschap) คือ

– ในพิธีการการแต่งงาน คู่สมรสทั้งคู่จะต้องพูดตอบรับยินยอมเป็นสามีภรรยากัน หรือที่เรียกว่า ‘ja – woord’ แต่การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ไม่ได้บังคับข้อนี้

–  คู่พาร์ทเนอร์ที่ไม่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี และประสงค์จะแยกทางกัน สามารถกระทำการตกลงกันเองได้นอกศาล หากแต่คู่สมรสเมื่อต้องการหย่าร้างกัน จะต้องได้รับการอนุมัติจากศาลเท่านั้น นอกเหนือจากนั้น คู่พาร์ทเนอร์ไม่สามารถกระทำการแยกกันอยู่ (แต่ไม่ได้หย่าร้างกันอยากเป็นทางการ เนื่องด้วยเหตุผลทางศาสนา หรือเหตุผลทางการเงิน ที่เรียกว่า Scheiding van tafel en bed) ได้ หากแต่คู่สมรสสามารถกระทำการแยกกันอยู่แบบนี้ได้

ข้อแตกต่างปลีกย่อยอีกประการคือ การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์สามารถเปลี่ยนเป็นการแต่งงานในภายหลังได้ หากแต่การแต่งงานไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ได้

จึงจะเห็นว่าในทางกฎหมาย (เกือบ) ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการจดทะเบียนสมรส กับการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์เลย ฉะนั้นในบทความต่อไปนี้จึงจะรวมการอยู่ร่วมกัน แบบจดทะเบียนสมรสและการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ไว้ในหัวข้อเดียวกัน

 

การอยู่ร่วมกันแบบ samen wonen

การอยู่ร่วมกันของคู่รักแบบ samen wonen ไม่ได้บังคับว่าทุกคู่จะต้องทำข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน  หากแต่การทำสัญญาเช่นนี้จะทำให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องการที่จะซื้อบ้านอยู่อาศัย หรือมีบุตรร่วมกัน หรือประสงค์จะมีบุตรร่วมกัน แนะนำว่าควรทำสัญญา Samenlevingscontract  ไว้

ถึงแม้ว่า การทำสัญญาอยู่ร่วมกัน สามารถจัดทำเขียนได้ด้วยตัวเอง หากแต่ในบางกรณี จำเป็นต้องทำข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน  (Samenlevingscontract” หรือ “Samenlevingsovereenkomst”) อย่างเป็นทางการโดยผ่านทนายความโนตาริส เช่น ในการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือการเช่าที่อยู่อาศัย เงินบำนาญ หรือการประกันภัยต่างๆ เป็นต้น

ในการทำข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน นี้ คู่รักสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใส่เงื่อนไขใดลงในสัญญา เช่น สัดส่วนของค่าใช้จ่ายร่วมกัน สัดส่วนของค่าบ้าน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงเงื่อนไขที่ระบุว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งของที่ซื้อร่วมกันหรือเงินบำนาญ หากสัญญาต้องยุติลงเนื่องจากการเลิกกัน หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต และรวมกันนี้ในสัญญายังระบุถึง ใครจะเป็นผู้ได้อยู่อาศัยภายในบ้าน หากสัญญาต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากการยุติความสัมพันธ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ในข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน  จะมีหัวข้อที่ระบุการสิ้นสุดของสัญญา ซึ่งสัญญามักจะสิ้นสุดที่ :

– ความสัมพันธ์สิ้นสุด (โดยการบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษร)

– ตาย

– แต่งงาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน  (“Samenlevingscontract” หรือ “Samenlevingsovereenkomst”) นี้มิใช่พินัยกรรม นั่นหมายความว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายอาจสามารถเก็บส่วนสิ่งที่ซื้อร่วมกันไว้ หากแต่สินทรัพย์อื่นๆ ส่วนตัว เช่น เงินออมทรัพย์ ของฝ่ายที่เสียชีวิตจะตกเป็นของทายาทของผู้นั้น (ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่นับเป็นทายาทมรดกของผู้ตาย หากทั้งคู่ไม่ได้มีบุตรร่วมกัน ทรัพย์สินส่วนของผู้ตาย จะตกแก่ทายาทในฝั่งครอบครัวของผู้ตาย)

 

การแต่งงาน หรือการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์

การแต่งงาน หรือการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ หากไม่ได้มีการลงนามในสัญญาก่อนแต่ง (Huwelijkse Voorwaarden หรือ Partnerschaps Voorwaarden) จะเรียกว่า เป็นการแต่งงานแบบ Gemeenschap van goederen

การแต่งงงานหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ แบบ Gemeenschap van goederen แปลว่า ณ วันที่แต่งงานกัน ทรัพย์สิน สินทรัพย์ รวมถึงหนี้สินของทั้งคู่จะถูกนำมารวมกันเป็นสินสมรสร่วมกันของทั้งคู่ ดังนั้นในกาลต่อมา หากคู่สมรสหรือคู่พาร์ทเนอร์ประสงค์ที่จะยุติความสัมพันธ์ ทรัพย์สิน สินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมด (ยกเว้นเงินบริจาค หรือมรดก) จะต้องถูกแบ่งครึ่ง และรับผิดชอบไปฝ่ายละครึ่ง

ซึ่งจะเห็นว่าการแต่งงานแบบ Gemeenschap van goederen จึงมีความไม่ยุติธรรมในหลายประการ เช่น ความไม่เท่าเทียมกันทางการเงินของคู่สมรส หนี้ก่อนสมรสจำนวนมากของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ความเสี่ยงทางธุรกิจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือความปรารถนาของคู่สมรสเองที่ต้องการจะมีอิสระทางการเงิน  ดังนั้นทางออกของปัญหานี้ คือการทำสัญญาก่อนแต่ง หรือสัญญาก่อนการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ (Huwelijkse Voorwaarden หรือ Partnerschaps Voorwaarden) นั่นเอง

การทำสัญญาก่อนแต่ง หรือสัญญาก่อนการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ (Huwelijkse Voorwaarden หรือ Partnerschaps Voorwaarden) ควรกระทำก่อนการแต่งงานจดทะเบียนสมรส หรือการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ เนื่องจากเป็นการง่ายกว่ามากในการที่จะแยก และระบุสินทรัพย์ ทรัพย์สิน และหนี้สินของแต่ละฝ่าย

ในสัญญาก่อนแต่ง หรือสัญญาก่อนการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ (Huwelijkse Voorwaarden หรือ Partnerschaps Voorwaarden) โดยทั่วไปจะประกอบด้วย

– การไม่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สิน (uitsluiting van Gemeenschap van Goederen) ในหัวข้อนี้จะมีการระบุว่า คู่สมรสทั้งคู่ ต่างไม่มีทรัพย์สิน สินทรัพย์ และหนี้สินร่วมกัน

– อสังหาริมทรัพย์และสิทธิครอบครองตั๋วเงิน และในสัญญายังได้ระบุในกรณีที่เกิดความขัดแย้งในทรัพย์สิน (Geschil met betrekking tot goederen)

– รายได้ คำนิยามของรายได้

– ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน (Bestuur)

– สิทธิในการชดเชย (Vergoedingsrechten)

– การแบ่งเบี้ยบำนาญเกษียณอายุเนื่องจากการหย่า (verevening pensioenaansparen bij echtscheiding) และการคำนวณการเงินอย่างอื่นสำหรับวัยชรา

– การเลือกกฏหมายบังคับใช้ (Rechtskeuze) โดยทั่วไป สัญญานี้จะระบุว่ากฏหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นกฏหมายที่มีผลบังคับใช้

เป็นต้น

สรุปความแตกต่างระหว่าง Samenlevingscontract , Huwelijkse และ  Geregistreerd Partnerschaps

สิทธิและหน้าที่ อยู่ร่วมกันแบบมีข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน (Samenlevingscontract) แต่งงาน (Huwelijkse) จดทะเบียนพาร์ทเนอร์

(Geregistreerd Partnerschaps)

ใช้นามสกุลของกันและกัน ใช้นามสกุลของตัวเอง ไม่มีสิทธิในการใช้นามสกุลของอีกฝ่าย มีสิทธิในการใช้นามสกุลของอีกฝ่าย หากแต่ในการกรอกเอกสารที่เป็นทางการ ต้องใช้นามสกุลของตัวเอง มีสิทธิในการใช้นามสกุลของอีกฝ่าย หากแต่ในการกรอกเอกสารที่เป็นทางการ ต้องใช้นามสกุลของตัวเอง
เกี่ยวดองเป็นญาติ (Aangetrouwde familie) ไม่มีความเกี่ยวดองเป็นญาติกัน มีความเกี่ยวดองเป็นญาติโดยการแต่งงานกับครอบครัวของอีกฝ่าย (Aanverwanten) มีความเกี่ยวดองเป็นญาติโดยการแต่งงานกับครอบครัวของอีกฝ่าย (Aanverwanten)
การตัดสินใจร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจร่วมกัน ในการกระทำการบางอย่าง เช่น ขายบ้าน หรือซื้อบางสิ่งบางอย่างที่ต้องใช้เครดิตทางการเงิน คู่ครองต้องทำการตัดสินใจร่วมกัน ในการกระทำการบางอย่าง เช่น ขายบ้าน หรือซื้อบางสิ่งบางอย่างที่ต้องใช้เครดิตทางการเงิน คู่ครองต้องทำการตัดสินใจร่วมกัน
ผลกระทบต่อบุคคลอื่นในทางกฏหมาย ไม่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น แต่ปัจจุบันมีหลายคู่ที่ให้ทนายความโนตาริสเขียนข้อตกลงการอยู่ร่วมกันที่มีบทกล่าวถึงสถานะของกองทุนเงินบำนาญ มีสิทธิบางประการทางกฏหมาย เช่น สิทธิที่จะปฏิเสธที่จะให้การเป็นพยานปรักปรำญาติโดยการแต่งงาน หรือคู่ครองของตนในชั้นศาล มีสิทธิบางประการทางกฏหมาย เช่น สิทธิที่จะปฏิเสธที่จะให้การเป็นพยานปรักปรำญาติโดยการแต่งงาน หรือคู่ครองของตนในชั้นศาล
ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา สามารถเลือกได้ว่า จะเห็นด้วยกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระผูกพันในการบำรุงรักษา ทั้งคู่มีภาระร่วมกัน ในการที่จะบำรุงรักษาที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายในการการอยู่ร่วมกัน ทั้งคู่มีภาระร่วมกัน ในการที่จะบำรุงรักษาที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายในการการอยู่ร่วมกัน
ทรัพย์สิน สินทรัพย์ ภาระหนี้สิน ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และหนี้สิน เป็นของแต่ละฝ่าย แต่อาจเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน สินทรัพย์และหนี้สินร่วมกันได้ เช่น ซื้อบ้าน และมีชื่อเป็นเจ้าของบ้านร่วมกัน หากไม่มีการลงนามในสัญญาก่อนแต่งงาน ทั้งทรัพย์สิน สินทรัพย์ และหนี้สินก่อนสมรสของทั้งคู่จะถูกนำมาร่วมกันเป็น “สินสมรส” (Gemeenschap van goederen) หากไม่มีการลงนามในสัญญาก่อนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ทั้งทรัพย์สิน สินทรัพย์ และหนี้สินก่อนจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ของทั้งคู่จะถูกนำมาร่วมกันเป็น “สินสมรส” (Gemeenschap van goederen)
มรดก ไม่ได้เป็นทายาท ไม่มีสิทธิในมรดกของอีกฝ่าย ในกรณีที่เสียชีวิต ต้องทำพินัยกรรมแยกต่างหาก เป็นทายาท มีสิทธิได้รับมรดกของกันและกันโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่อีกฝ่ายเสียชีวิต เป็นทายาท มีสิทธิได้รับมรดกของกันและกันโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่อีกฝ่ายเสียชีวิต
เงินบำนาญเกษียณอายุ ไม่ได้รับเงินบำนาญเกษียณอายุของคู่สมรส หากอีกฝ่ายเสียชีวิต ยกเว้นแต่ว่า ได้ระบุไว้ในข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยทั่วไปจะยังได้รับเงินบำนาญเกษียณอายุของคู่สมรส หากอีกฝ่ายเสียชีวิต โดยทั่วไปจะยังได้รับเงินบำนาญเกษียณอายุของคู่สมรส หากอีกฝ่ายเสียชีวิต
การได้รับการยอมรับตามกฏหมายไทย ไม่ได้รับการยอมรับ ได้รับการยอมรับเทียบเท่าการจดทะเบียนสมรสตามกฏหมายไทย ไม่ได้รับการยอมรับ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. het juridisch loket. (2016). Wel of geen samenlevingscontract? Terugvinden Februari, 2016 van https://www.juridischloket.nl/familie-en-relatie/samenwonen/samenlevingscontract
  2. Rijkoverheid. (2016). Trouwen, samenlevingscontract en geregistreerd partnerschap. Terugvinden Februari, 2016 van https://www.rijksoverheid.nl/
  3. Huwelijksevoorwaarden-nl. (2016). Huwelijkse voorwaarden. Terugvinden Februari, 2016 van http://www.huwelijksevoorwaarden-nl.nl/
  4. Ministerie van veiligheid en Justitie. (November 2015). Trouwen, geregistreerd partnerschap en samenwonen.
  5. Koninklijke Natariele Beroepsorganisatie. (December 2011). SAMEN VERDER wat moeten wij nog extra regelen?

2 Comments

สัญญาก่อนสมรส และการอยู่ร่วมกันแบบต่างๆ ตามกฎหมายดัตช์ (เวอร์ชั่นใส่สี) | Dutch thingy

April 11, 2016at 3:34 pm

[…] เวอร์ชั่นเป็นวิชาการอยู่นี่ค่ะ ข้อตกลงอาศัยอยู่ร่วมกัน และสัญญาก่… […]

สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ หัวข้อกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๓ – ข้อตกลงการหย่า

January 30, 2017at 1:51 am

[…] อ่านเพิ่มเติมเรื่องความแตกต่างระหว่างการอยู่ร่วมกันแบบต่างๆ ตามกฎหมายดัตช์ได้ที่นี่ ข้อตกลงอยู่ด้วยกัน และสัญญาก่อนแต่… […]