สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ หัวข้อกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๓ – ข้อตกลงการหย่าร้าง(Het echtscheidingsconvenant) – (ต่อ)
เรียบเรียงโดย วัชรี กสิบาล (W. Kasiban)
บรรณาธิการ เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ (Y. Wongsuwan)
ยุพิน ขุนรองชู (Y. Khunrongchu)
ภาพโดย สุกานดา ศรีเสน่ห์พร (S. Srisaneporn)
เรียบเรียงจากการอบรมในหัวข้อ Internationaal Privaat Recht, Hoofdlijnen van het Nationaal en Internationaal Famillierecht โดย Dr.I. Curry Sumner จัดขึ้น ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
อ่านตอนที่ ๑ – การหย่าร้าง (Echtscheiding) ได้ที่นี่
อ่านตอนที่ ๒ – ข้อตกลงการหย่าร้าง (Het echtscheidingsconvenant) ได้ที่นี่
4. การแบ่งสินสมรสตามกฎหมายสินสมรส (Huwelijksvermogensrecht)
การแต่งงาน (Huwelijk) ตามกฎหมายดัตช์นั้น มีได้ 2 แบบด้วยกันคือ
1. การแต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส หรือที่เรียกว่าเป็นการแต่งงานตาม De wettelijke gemeenschap van goederen
2. การแต่งงานแบบมีสัญญา หรือการแต่งงานแบบ Huwelijkse voorwaarden
อ่านเพิ่มเติมเรื่องความแตกต่างระหว่างการอยู่ร่วมกันแบบต่างๆ ตามกฎหมายดัตช์ได้ที่นี่ ข้อตกลงอยู่ด้วยกัน และสัญญาก่อนแต่งงาน (Samenlevingscontract & Huwelijkse voorwaarden)
ดังนั้นเมื่อคู่สามี-ภรรยาต้องการจะหย่าร้างกัน การแบ่งสินสมรสจึงขึ้นอยู่กับประเภทของการแต่งงาน โดยเป็นไปดังต่อไปนี้
4.1 การแบ่งสินสมรสจากการแต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส ( Verdeling gemeenschap van goederen)
การแต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรสนี้ เป็นการแต่งงานแบบรวมสินสมรส หมายความว่า ทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สามี-ภรรยาที่มีมาก่อน และในระหว่างที่แต่งงานกัน จะถูกนำมารวมเป็น “สินสมรส” ทรัพย์สินนี้รวมถึงมรดกที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้รับ และผู้ให้มรดกไม่ได้ตั้งเงื่อนไขระบุว่าให้เฉพาะผู้รับมรดกแบบเจาะจงเท่านั้น (uitsluitingsclausule)
การแบ่งทรัพย์สินในบ้าน (Boedelverdeling) เช่น เครื่องใช้ไม้สอย เงินบำนาญเกษียณอายุ หนี้สิน เงินออมที่ฝากธนาคาร และเงินประกัน สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกแบ่งคนละครึ่ง
หนี้สินที่เกิดจากการกู้ซื้อบ้าน ก็ต้องแบ่งรับภาระคนละครึ่งเช่นกัน (ถึงแม้ว่าบ้านนั้นจะซื้อก่อนการแต่งงาน หรือมีชื่อเป็นผู้กู้เงินเป็นเพียงชื่อฝ่ายใดแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม)
มีข้อยกเว้นในทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่รวมเป็นสินสมรส เช่น ทรัพย์สินที่ได้มาจากมรดก สินสิเน่หา และเจ้าของมรดกได้เขียนระบุไว้ในพินัยกรรมว่า ทรัพย์สินนั้นจะไม่ถูกรวมเป็นสินสมรสหากทายาทผู้รับมรดกของตนแต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส หรือที่เรียกว่า een uitsluitingsclausule in zijn of haar testament
เนื่องด้วยการแบ่งสินสมรสจากการแต่งงานแบบนี้ มีความยุ่งยากมาก และอาจมีความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างมาก จึงขอแนะนำว่า คู่สามี-ภรรยาที่แต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส หากต้องการจะหย่า ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง (mediator) เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น
4.2 การแบ่งสินสมรสจากการแต่งงานแบบมีสัญญาก่อนสมรส (Afwikkeling huwelijkse voorwaarden)
สัญญาก่อนสมรสนี้กระทำขึ้นก่อนหรือระหว่างการสมรสใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน โดยปกติหากกระทำสัญญานี้เกิดขึ้นในระหว่างการสมรส มักเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มทำธุรกิจเป็นของตนเอง
สัญญาก่อนสมรสนี้จะทำให้ทรัพย์สิน และหนี้สินบางอย่าง ได้รับยกเว้น ไม่ถูกรวมอยู่ใน “สินสมรส” และเมื่อหากเกิดการหย่าร้างกันขึ้น ทรัพย์สินและหนี้สินเหล่านั้น ก็จะยังเป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่เพียงผู้เดียว ไม่ถูกนำมาร่วมแบ่งด้วย
4.2.1 รูปแบบของสัญญาก่อนสมรส
สัญญาก่อนสมรสจะเป็นรูปแบบใดขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทั้งสองฝ่าย โดยทั่วไปสัญญาก่อนสมรสจะมีสามรูปแบบ คือ
1) Koude uitsluiting
สัญญาก่อนสมรสแบบนี้ ทั้งคู่ต่างไม่มีทรัพย์สินใดที่เป็น “สินสมรส” ร่วมกันเลย ต่างฝ่ายต่างมีทรัพย์สินส่วนตัว และรับผิดชอบในสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นของตน สัญญาก่อนสมรสแบบนี้ อาจมีข้อยกเว้นก็เฉพาะการแบ่ง “เงินบำนาญ” ที่ทั้งสองฝ่ายสะสมระหว่างสมรสเท่านั้น
2) Beperkte gemeenschap
สัญญาก่อนสมรสชนิดนี้ จะจำกัดทรัพย์สินและหนี้สินบางอย่างให้เป็น “สินสมรส” ร่วมกัน ทรัพย์สินและหนี้สินส่วนอื่นนับเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย
3) ระบบการแบ่งสินสมรส (Verrekenstelsels)
ประเภทของการแบ่งภายใต้ระบบการแบ่งสินสมรสจะส่งผลต่อการแบ่งและจ่ายสินสมรส การแบ่งและจ่ายสินสมรสนี้จะเป็นการตกลงกันโดยคำนึงถึงรายได้ และมูลค่าของทรัพย์สิน โดยทั่วไปจะมี 2 รูปแบบด้วยกันคือ
3.1) Periodiek verrekenbeding การแบ่งสินสมรสในรูปแบบนี้ จะนับว่า ก่อนแต่งงาน ทรัพย์สินและหนี้สินที่แต่ละฝ่ายมีนั้น ถือเป็น “สินส่วนตัว” ของแต่ละฝ่าย แต่หลังจากแต่งงานกันแล้ว รายได้หรือทรัพย์สินที่ได้มาในช่วงระยะเวลาที่อยู่ด้วยกันจะนับเป็น “สินสมรส” โดยนำเงินรายได้ที่เหลือ หลังการหักค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของทั้งคู่ มาเฉลี่ยแบ่งกันคนละครึ่ง การแบ่งแบบนี้จะกระทำทุกๆ สิ้นปี –การแบ่งสินสมรสแบบนี้ มิได้คำนึงถึงหนี้สิน คิดเฉพาะรายได้ และทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่แต่งงานอยู่ด้วยกันในแต่ละปีเท่านั้น
3.2) Finaal verrekenbeding การแบ่งสินสมรสในรูปแบบนี้ จะคล้ายกับแบบ Periodiek verrekenbeding ในแง่ที่ว่า จะนับว่า ก่อนแต่งงาน ทรัพย์สินและหนี้สินที่แต่ละฝ่ายมีนั้น ถือเป็น “สินส่วนตัว” ของแต่ละฝ่าย แต่หลังจากแต่งงานกันแล้ว รายได้หรือทรัพย์สินที่ได้มาในช่วงระยะเวลาที่อยู่ด้วยกันจะนับเป็น “สินสมรส” แต่สินสมรสนี้จะมีการแบ่งก็ต่อเมื่อมีการหย่าเกิดขึ้นเท่านั้น (ไม่ได้แบ่งทุกปีเหมือนแบบแรก) สินสมรสในที่นี้ จะรวมทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน หักลบออกจากกันจำนวนที่เหลือนำมาแบ่งคนละครึ่ง ต่างฝ่ายต่างรับผิดชอบต่อทรัพย์สินและหนี้สินนั้นไปอย่างละครึ่ง – การแบ่งสินสมรสแบบนี้ จะใกล้เคียงกับการแบ่งสินสมรสตามกฎหมายการหย่าร้างของประเทศไทย
ในทางปฏิบัตินั้น คู่สมรสสามารถเลือกใช้การแบ่งแบบทุก ๆ ปี แบบครั้งเดียว หรือทั้งสองแบบรวมกันได้ การเลือกทั้งสองแบบนั้น จะช่วยแก้ปัญหากรณีการแบ่งตามรอบระยะเวลาไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์หรือต่อเนื่อง – สัญญาก่อนสมรสเป็นนิติกรรมที่ต้องมีการจัดทำโดยทนายความนิติกรรม (Notaris)
5. สิทธิในทีอยู่อาศัยเนื่องจากการหย่า (huisvesting หรือ woonrecht)
ในเมืองใหญ่ๆ ในเนเธอร์แลนด์ บ้านพักที่อยู่อาศัยมีราคาแพง และมีความขาดแคลน ถึงขนาดในบางเมืองประชาชนต้องรอคิวเป็นปีเพื่อให้มีสิทธิ์ในการเข้าอยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ ดังนั้นการหย่าจึงมีผลกระทบต่อสิทธิในที่อยู่อาศัย เนื่องจากเมื่อมีการหย่าเกิดขึ้น ฝ่ายหนึ่งจะต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่
ซึ่งการแบ่งสิทธิในที่อยู่อาศัยเนื่องจากการหย่านั้น นอกจากจะแบ่งตามประเภทของอสังหาริมทรัพย์นั้น เช่น บ้านซื้อ (koopwoning) หรือบ้านเช่า (huurwoning) แล้ว ยังต้องแบ่งตามประเภทของการแต่งงานอีกด้วย เช่น แต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส (gemeenschap van goederen) หรือแต่งงานแบบมีสัญญาก่อนสมรส (huwelijkse voorwaarden)
5.1 สิทธิในที่อยู่อาศัยในบ้านซื้อ (Echtscheiding en koopwoning)
บ้านเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ต้องแบ่งเมื่อเกิดการหย่าร้างขึ้น นอกจากต้องคำนึงถึงความยุติธรรมและยังต้องคำนึงถึงเรื่องของภาษีอีกด้วย โดยการแบ่งที่อยู่อาศัยเนื่องจากการหย่า จะขึ้นอยู่กับประเภทของการแต่งงานดังนี้
5.1.1 แต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส (gemeenschap van goederen)
การแต่งงานแบบนี้ ถือว่า บ้านที่ทั้งคู่อยู่อาศัยร่วมกันนั้นเป็น “สินสมรส” สามี-ภรรยาทั้งคู่เป็นเจ้าของร่วมกัน (ถึงแม้ว่าบ้านหลังนั้น ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวจะซื้อมาก่อนที่จะแต่งงานกันก็ตาม) เมื่อต้องการหย่าร้างกัน การแบ่งบ้านที่อยู่อาศัยจากการแต่งงานแบบนี้ โดยทั่วไป กระทำได้ 3 ทางคือ
1. ขายบ้านให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถือครองบ้านแต่เพียงผู้เดียว
3. ทั้งคู่ต่างเป็นเจ้าของบ้าน ถือครองไว้ในระยะเวลาหนึ่ง
การที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความต้องการของทั้งสองฝ่าย และต้องคำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจด้วย ในกรณีขายบ้าน พึงตระหนักว่า หากบ้านยังติดจำนองธนาคารอยู่นั้น รายได้จากการขายบ้านต้องถูกนำมาชำระแก่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ก่อนเป็นลำดับแรก กำไรที่ได้ (overwaarde) หรือกรณีขาดทุน (onderwaarde) มูลค่านั้น ๆ จะถูกนำมาแบ่งคนครึ่ง
หากเลือกทางที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถือครองบ้านแต่เพียงผู้เดียว ฝ่ายที่ถือครองต่อนั้น ต้องซื้อสิทธิของอีกฝ่ายออก หลักการคร่าว ๆ คือ มูลค่าของบ้านตามราคาตลาด (taxatie) หรือตาม WOZ waarde จะถูกหักออกด้วยจำนวนเงินค้างจำนอง (กรณียังติดจำนองอยู่) ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นกำไร หรือขาดทุน จะถูกนำมาแบ่งครึ่ง ฝ่ายที่อาศัยอยู่ต่อจะต้องชำระมูลค่าครึ่งหนึ่งนั้นให้แก่ฝ่ายที่ออกจากบ้าน ที่สำคัญฝ่ายที่ประสงค์จะถือครองบ้านต่อนั้น ต้องมีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าจำนองบ้านรายเดือนแก่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ด้วย
ในกรณีถือครองบ้านร่วมกันต่อด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่นั้นนั้น ทั้งสองฝ่ายสมควรทำข้อตกลงต่อกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย รวมถึงระยะในการถือครองร่วมกัน สมควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างรอบคอบ เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบทางด้านภาษี
5.1.2 แต่งงานแบบมีสัญญาก่อนสมรส (huwelijkse voorwaarden)
การแต่งงานแบบนี้ เป็นการแยกสินสมรสก่อนแต่งและหลังแต่งอย่างเด็ดขาด ดังนั้นหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นเจ้าของบ้าน และได้มาก่อนการแต่งงาน หากเกิดการหย่าร้างขึ้น บ้านหลังนั้นก็ยังคงมีกรรมสิทธิ์คงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าหากบ้านหรือที่อยู่อาศัยนั้น ซื้อมาในระหว่างการใช้ชีวิตสมรสร่วมกัน เมื่อเกิดการหย่าร้าง การแบ่งสิทธิในที่อยู่อาศัย ก็ให้เป็นไปตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสของทั้งคู่สามี-ภรรยานั้น
5.2 สิทธิในที่อยู่อาศัยในบ้านเช่า (Huurwoning en echtscheiding)
คู่สามี-ภรรยาที่อาศัยอยู่ร่วมกันในทีอยู่อาศัยที่เป็นลักษณะของการเช่า จะถือว่า และมีสิทธิเทียบเท่าเป็น “ผู้เช่าร่วม (medehuurder)” ถึงแม้ว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่เคยเซ็นในสัญญาเช่าร่วมกันก็ตาม โดยสิทธิในที่อยู่อาศัยในบ้านเช่านี้ ทั้งคู่สามี-ภรรยา มีสิทธิเท่าเทียมกัน เมื่อต้องการหย่าร้างกัน การแบ่งว่าใครมีสิทธิในที่อยู่อาศัยแบบเช่า จึงไม่ต้องนำประเภทของการแต่งงานมาพิจารณา
ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะมีสิทธิในการอยู่อาศัยต่อในบ้านเช่าเดิมนั้น อาจส่ง (ยื่น) เรื่องให้ศาลพิจารณาได้ โดยส่วนใหญ่ศาลจะให้น้ำหนักสิทธิแก่ผู้ปกครองที่มีสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรเป็นหลัก
เว็บไซต์เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม
1 Comment
สรุปการอบรมเรื่อง กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ หัวข้อกฎหมายครอบครัว ตอนที่ ๒ – ข้อตกลงการหย่า
January 30, 2017at 6:09 pm[…] บทความในตอนนี้จะอธิบายเฉพาะหัวข้อหลักในข้อตกลงการหย่าร้างในข้อที่ 1-3 เท่านั้น ส่วนหัวข้อที่ 4-5 สามารถอ่านต่อได้ที่นี่ […]