(Vereniging Tolken en Vertalers Thai-Nederlands)
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ตัวแทนสมาคมล่ามและนักแปลไทย-ดัตช์ ได้แก่ นางสาวสุกานดา ศรีเสน่ห์พร และนางวิกานดา เผ่าดิษฐ์ ร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมมหาราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ณ วัดพุทธวิหาร เมือง Waalwijk ประเทศเนเธอร์แลนด์
เนื่องด้วยวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ ๓ ปีของการก่อตั้งสมาคมล่ามและนักแปลไทย-ดัตช์ (Vereniging Tolken en Vertalers Thai-Nederlands) สมาคมฯ จึงได้จัดกิจกรรมภายในขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมล่ามฯ เมือง Utrecht เพื่อเพิ่มเติมความรู้ด้านภาษาดัตช์ และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในหมู่สมาชิกด้วยกัน
ในช่วงเช้า สมาคมได้เชิญอาจารย์ Drs. Cora Kromdijk มาให้ความรู้เเก่สมาชิก และผู้สนใจเพื่อปรับปรุงภาษาดัตช์ให้ดีขึ้น ให้เกร็ดความรู้ ในเรื่องการเน้นเสียงหนัก เบา Klemtoon, Schwa, การขึ้นเสียงสูงต่ำในประโยค Zinintonatie , การเเยกเเยะบทความระดับ A1และ B1 และฝึกพูดโดยการสร้างประโยคต่อๆ กันเป็นเรื่องราว improvisatie ซึ่งเหล่านี้เป็นความแตกต่างจากการออกเสียงในภาษาไทยอย่างมาก
และหลังจากรับประทานมื้อกลางวันร่วมกัน พวกเราเหล่าสมาชิกได้ไปเดินชมธรรมชาติเลียบคลอง Krommer Rijn.
เรียบเรียงโดย วัชรี กสิบาล (W.Kasiban)
บรรณาธิการ เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ (Y. Wongsuwan)
คนไทยที่ย้ายมาอยู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่ออยู่ไปได้สักระยะหนึ่ง บางส่วนก็อาจประสบปัญหาทางด้านกฎหมายต่างๆ เช่น ถูกคู่สมรสขอหย่า ฟ้องหย่าคู่สมรส ถูกไล่ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม หรือปัญหาที่เกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบริโภคสินค้า หรือการใช้บริการ เป็นต้น – ปัญหาเหล่านี้ ต้องใช้ขั้นตอนทางกระบวนการยุติธรรมของเนเธอร์แลนด์ในการตัดสิน รวมถึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วย — บทความนี้ จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่สิทธิขั้นพื้นฐานกรณีคนไทยที่มีรายได้น้อย เกิดต้องประสบปัญหาทางด้านกฎหมายในประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการให้บริการทางด้านกฎหมายจากรัฐได้
การขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐ (Gesubsidieerde Rechtsbijstand หรือ toevoeging) คือ การที่รัฐจัดหาบุคลากรให้คำปรึกษาแนะนำด้านกฏหมาย หรือจัดสรรทรัพยากรในการดำเนินกระบวนการตามกฏหมาย ทั้งนี้รวมถึงการจัดสรรเงินช่วยเหลือบางส่วนให้ตามเกณฑ์รายได้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมทนายความ ศาล หรือผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) หรือล่าม ในการแก้ไขปัญหาด้านกฎหมายให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้ต่ำทั่วไป สิทธินี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศเนเธอร์แลนด์ – ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐในรูปของเงินช่วยเหลือค่าธรรมเนียม (toevoeging) นี้ จะต้องเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ — แต่เงินช่วยเหลือนี้ ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายทั้งหมด คุณจะต้องจ่ายค่าสมทบเองด้วยบางส่วน และเงินช่วยเหลือนี้จะไม่มีการส่งให้คุณโดยตรง หากแต่จะมีการจ่ายให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฏหมายแก่คุณโดยตรง ข้อมูลเกี่ยวกับค่าสมทบของคุณว่ามากน้อยเท่าไหร่นั้น คุณสามารถดูได้ในตารางด้านล่างของบทความนี้ หรือตามลิงค์นี้
ปัญหาทางด้านกฎหมายที่สามารถขอความช่วยเหลือจากรัฐได้นั้น มีได้หลากหลาย เช่น ๑) ปัญหาเรื่องของการหย่า ๒)สิทธิผู้บริโภค การได้รับบริการที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ๓) ปัญหากับการทำงานของหน่วยงานของรัฐ ๔) ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องค่าเช่าต่างๆ ๕) การถูกไล่ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม หรือการลบเลี่ยงการต่อสัญญาว่าจ้างงานตามกฏหมายกำหนด ๖) เรื่องหนี้สิน ๗) หรือปัญหาอื่นๆ
เมื่อมีปัญหาทางด้านกฎหมายเกิดขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำคือพยายามแก้ปัญหาด้วยการเจรจาหาทางออกร่วมกันทั้งสองฝ่าย แต่หากถึงที่สุดแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ คุณสามารถขอคำปรึกษาจาก “Het Juridisch Loket” ใกล้บ้านได้ หน่วยงานนี้จะให้คำแนะนำวิธีการแก้ปัญหา เช่น บางปัญหาต้องการคนกลางเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย หรือบางปัญหาอาจจะต้องใช้ทนาย เป็นต้น Het Juridisch Loket เป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นทางด้านกฏหมายเท่านั้น หน่วยงานนี้จะให้ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามลำดับขั้นต่อไป ข้อดีของการขอความช่วยเหลือผ่าน Het Juridisch Loket คือ
๑)ไม่มีค่าใช้จ่ายในการปรึกษาแนะนำเบื้องต้น
๒) กรณีคุณได้รับการส่งต่อจาก Het Juridisch Loket ไปยังทนายหรือผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อการดำเนินงานขั้นต่อไป คุณจะได้รับส่วนลด 53 ยูโร สำหรับค่าสมทบส่วนตัวของคุณ และในการส่งเรื่องของคุณต่อไปยังองค์กรหรือบุคคลอื่นนั้น คุณจะได้รับเอกสารที่เรียกว่า ‘diagnosedocument’ จาก Het Juridisch Loket
การแก้ปัญหาทางด้านกฎหมายที่จำเป็นต้องใช้ทนายความ ผู้ไกล่เกลี่ย หรือล่าม จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และหากผู้ประสบปัญหามีรายได้ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ ก็สามารถขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐได้ (rechtsbijstand) ซึ่งการขอความช่วยเหลือทางด้านกฏหมายจากรัฐนี้ ผู้ขอไม่สามารถยื่นได้ด้วยตัวเอง หากแต่ต้องยื่นผ่านทนายความ หรือผู้ไกล่เกลี่ย ดังนั้นหากประสบปัญหาทางด้านกฎหมาย ผู้ประสบปัญหาจะต้องอธิบายปัญหาและเอ่ยถึงเรื่องการขอความช่วยเหลือจากรัฐตั้งแต่ครั้งแรกที่คุยกับทนายหรือผู้ไกล่เกลี่ย
๑. การให้คำแนะนำทางด้านกฎหมาย การชี้แนะทางด้านกฎหมาย ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ Rechtwijzer.nl
๒. Lichte Advies Toevoeging (LAT) คือการขอเงินช่วยเหลือบางส่วนจากรัฐในการจ่ายค่าทนายความ (Advocaat) โดยการขอความช่วยเหลือในประเภทนี้ จะเป็นเรื่องทางกฎหมายที่ไม่ซับซ้อน ทนายความสามารถใช้เวลาดำเนินการได้จนเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง สำหรับข้อพิพาทเกี่ยวเนื่องจำนวนเงินหรือค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 250 ยูโร อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
๓. ผู้ไกล่เกลี่ย / การไกล่เกลี่ย (Mediation) คุณสามารถใช้สิทธิขอเงินช่วยเหลือบางส่วนจากรัฐในการจ่ายค่าธรรมเนียมคนกลางได้ – ผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) คือเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย คอยทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ
๔. Reguliere toevoeging คือการขอเงินช่วยเหลือบางส่วนจากรัฐในการจ่ายค่าธรรมเนียมทนายความ (Advocaat) สำหรับคดีหรือข้อพิพาทเกี่ยวเนื่องกับจำนวนเงินหรือค่าเสียหายตั้งแต่ 500 ยูโร ขึ้นไป
ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐนี้ เป็นสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้เฉพาะสำหรับผู้มีความจำเป็น และมีรายได้น้อยไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมได้เท่านั้น โดยรัฐจะดูจาก 2 ทางคือ ๑) รายได้ และ ๒) มูลค่าของทรัพย์สินในความครอบครอง เช่น เงินออมและทรัพย์สินที่มี
๑) รายได้
ผู้ที่มีสิทธิ์ขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐจะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อย กล่าวคือมีรายได้ (inkomen) ไม่เกิน 26,400 ยูโรต่อปี (สำหรับคนสถานะภาพโสด) หรือ (verzamelinkomen) ไม่เกิน 37,300 ยูโรต่อปี (สำหรับคู่สมรส หรือมีคู่ครองตามกฏหมาย หรือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ในความดูแล) โดยนับภาษีย้อนหลังภายใน 2 ปี (เรียกว่า peiljaar) — หมายถึง หากปีนี้คือปี ค.ศ. 2017 ให้นับคำนวณย้อนหลังไปอีก 2 ปี คือนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 เป็นต้นมา
ถึงแม้จะได้รับเงินช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐ แต่จะเป็นแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้นผู้ประสบปัญหาทางกฎหมายจะต้องจ่ายส่วนของตนเองสมทบด้วย โดยส่วนที่จ่ายเองสมทบนี้ จะเป็นจำนวนเงินมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น รายได้ที่หาได้ในรอบ 2 ปีที่มีการนับภาษีย้อนหลัง และมูลค่าทรัพย์สินในความครอบครอง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น มีการเปลี่ยนตัวทนายในระหว่างการดำเนินการหรือไม่ หรือกระบวนการการทำงานยาวนานกว่าปกติหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายสมทบในกรณีนี้ ค่อนข้างเฉพาะตัว จึงต้องปรึกษากับทนายความ หรือผู้ไกล่เกลี่ยของตนถึงค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นกรณีๆ ไป
๒) เงินออมและทรัพย์สินที่มี
ผู้ที่มีสิทธิ์ขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ คือมีรายได้น้อย และมีทรัพย์สินในความครอบครอง (vermogen) เช่น เงินออมทรัพย์ ไม่เกินเกณฑ์ยกเว้นภาษีด้านทรัพย์สิน (heffingsvrij vermogen) หรือไม่มีสินทรัพย์ เช่น บ้านหลังที่สอง นอกเหนือจากบ้านหลังที่ใช้อาศัยอยู่ปัจจุบัน — โดยสามารถเช็คได้จากการยื่นภาษีในส่วนของเงินออม 2 ปีภาษีย้อนหลัง(peiljaar) นับจากปีที่ประสบปัญหาทางด้านกฏหมาย — แปลว่า ถ้าปีนี้คือปี ค.ศ. 2017 ก็ให้นับคำนวณย้อนหลังไป 2 ปี คือนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 เป็นต้นมา
เช่น ปี ค.ศ. 2017 ผู้ที่มีสิทธิ์ขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐต้องมีเงินออมย้อนหลังของปี ค.ศ. 2015 ไม่เกิน 21,330 ยูโรต่อคน (ในกรณีที่ผู้ประสบปัญหาทางด้านกฎหมาย มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อนุโลมว่า สามารถมีเงินออมย้อนหลังของปี ค.ศ. 2015 ได้ไม่เกิน 28,236 ยูโรต่อคน
*** อนึ่ง กฏหมายดัตช์มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดอยู่เสมอ ดังนั้น การคำนวณเกณฑ์รายได้ และเงินออมนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี จึงต้องอัพเดทอยู่เสมอ ***
ในกรณีที่ผู้ประสบปัญหาทางด้านกฎหมายไม่ได้ใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาแม่ เช่น คนไทยในเนเธอร์แลนด์ที่ถูกสามียื่นฟ้องหย่า หรือถูกไล่ออกจากงาน เป็นต้น ในกรณีนี้สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีล่ามหรือนักแปลช่วยทำการแปลให้ได้ โดยต้องระบุไปตั้งแต่ครั้งแรกที่คุยกับทนาย หรือผู้ไกล่เกลี่ย
ทนายหรือผู้ไกล่เกลี่ยจะทำเรื่องขอให้องค์กรจัดส่งล่ามให้แก่ลูกความ ปัจจุบัน มีบริษัทล่าม 2 บริษัทที่รับผิดชอบในการหัดหาล่ามลงทะเบียนเพื่อทำงานแปลในกระบวนการยุติธรรม คือ บริษัท TVcN และ บริษัท Concorde หรือในบางกรณีทนายความอาจจะขอให้ลูกความเป็นผู้จัดหาล่ามลงทะเบียนเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนของล่ามและนักแปลนี้ ก็รวมอยู่ในส่วนของ Gesubsidieerde Rechtbijstand เช่นกัน
ส่วนที่ผู้ประสบปัญหาทางกฎหมายต้องจ่ายสมทบเองนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับสถานภาพการสมรส รายได้ และเงินออมของตัวผู้ประสบปัญหาทางกฎหมายเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับประเภทของปัญหาทางด้านกฎหมายด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีทั่วไป
รายได้ต่อปีของ 2 ปีภาษีย้อนหลังของสถานภาพโสด |
รายได้ต่อปีใน 2 ปีภาษีย้อนหลัง ของสถานภาพสมรส หรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ในความดูแล | ส่วนที่ต้องจ่ายเองสมทบ (ปี ค.ศ. 2017) |
น้อยกว่า 18,700 ยูโร | น้อยกว่า 26,000 ยูโร | 196 ยูโร |
ระหว่าง 18,701 – 19,400 ยูโร | ระหว่าง 26,001 – 27,000 ยูโร | 360 ยูโร |
ระหว่าง 19,401 – 20,400 ยูโร | ระหว่าง 27,001 – 28,300 ยูโร | 514 ยูโร |
ระหว่าง 20,401 – 22,300 ยูโร | ระหว่าง 28,301 – 31,500 ยูโร | 669 ยูโร |
ระหว่าง 22,301 – 26,400 ยูโร | ระหว่าง 31,501 – 37,300 ยูโร | 823 ยูโร |
มากกว่า 26,400 ยูโร | มากกว่า 37,300 ยูโร | ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐ ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด |
ในกรณีที่ปัญหาทางด้านกฎหมายนั้น อยู่ในกฎหมายแพ่งบุคคล และครอบครัว
รายได้ต่อปีของ 2 ปีภาษีย้อนหลังของสถานภาพโสด |
รายได้ต่อปีใน 2 ปีภาษีย้อนหลัง ของสถานภาพสมรส หรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ในความดูแล |
ส่วนที่ต้องจ่ายเองสมทบ |
น้อยกว่า 18,700 ยูโร | น้อยกว่า 26,000 ยูโร | 340 ยูโร |
ระหว่าง 18,701 – 19,400 ยูโร | ระหว่าง 26,001 – 27,000 ยูโร | 412 ยูโร |
ระหว่าง 19,401 – 20,400 ยูโร | ระหว่าง 27,001 – 28,300 ยูโร | 566 ยูโร |
ระหว่าง 20,401 – 22,300 ยูโร | ระหว่าง 28,301 – 31,500 ยูโร | 720 ยูโร |
ระหว่าง 22,301 – 26,400 ยูโร | ระหว่าง 31,501 – 37,300 ยูโร | 849 ยูโร |
มากกว่า 26,400 ยูโร | มากกว่า 37,300 ยูโร | ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐ ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด |
กรณีของการจ่ายค่าบริการสำหรับผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator)
รายได้ต่อปีของ 2 ปีภาษีย้อนหลังของสถานภาพโสด |
รายได้ต่อปีใน 2 ปีภาษีย้อนหลัง ของสถานภาพสมรส หรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ในความดูแล |
ส่วนที่ต้องจ่ายเองสมทบ |
น้อยกว่า 18,700 ยูโร | น้อยกว่า 26,000 ยูโร | 53 ยูโร |
ระหว่าง 18,701 – 26,400 ยูโร | ระหว่าง 26,001 – 37,300 ยูโร | 53 ยูโร (สำหรับค่าบริการไม่เกิน 4 ชั่วโมง) และ 105 ยูโร (สำหรับค่าบริการชั่วโมงที่มากกว่า 4 ชั่วโมง) |
มากกว่า 26,400 ยูโร | มากกว่า 37,300 ยูโร | ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐ ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด |
กรณีที่เป็นปัญหาทางกฎหมายที่ไม่ได้ซับซ้อน ทนายความสามารถใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงในการให้คำปรึกษา Lichte Advies Toevoeging (LAT)
รายได้ต่อปีของ 2 ปีภาษีย้อนหลังของสถานภาพโสด |
รายได้ต่อปีใน 2 ปีภาษีย้อนหลัง ของสถานภาพสมรส หรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ในความดูแล |
ส่วนที่ต้องจ่ายเองสมทบ |
น้อยกว่า 19,400 ยูโร | น้อยกว่า 27,000 ยูโร | 77 ยูโร |
ระหว่าง 19,400 – 26,400 ยูโร | ระหว่าง 27,000 – 37,300 ยูโร | 129 ยูโร |
มากกว่า 26,400 ยูโร | มากกว่า 37,300 ยูโร | ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐ ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด |
กรณีที่เป็นปัญหาทางกฎหมายที่ไม่ได้ซับซ้อน ทนายความสามารถใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงในการให้คำปรึกษา Lichte Advies Toevoeging (LAT) และเป็นปัญหาในกฎหมายแพ่งบุคคล และครอบครัว
รายได้ต่อปีของ 2 ปีภาษีย้อนหลังของสถานภาพโสด |
รายได้ต่อปีใน 2 ปีภาษีย้อนหลัง ของสถานภาพสมรส หรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ในความดูแล |
ส่วนที่ต้องจ่ายเองสมทบ |
น้อยกว่า 19,400 ยูโร | น้อยกว่า 27,000 ยูโร | 108 ยูโร |
ระหว่าง 19,400 – 26,400 ยูโร | ระหว่าง 27,000 – 37,300 ยูโร | 142 ยูโร |
มากกว่า 26,400 ยูโร | มากกว่า 37,300 ยูโร | ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากรัฐ ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด |
เมื่อประสบปัญหาทางด้านกฎหมาย หรือปัญหาที่ต้องใช้กระบวนการทางยุติธรรมตัดสิน
๑. พยายามหาทางออกด้วยดี ด้วยการเจรจากันเองทั้งสองฝ่าย
๒. หากไม่สำเร็จ ไปหา Het Juridisch Loket ใกล้บ้าน ซึ่งจะมีนักกฎหมายให้คำแนะนำว่าปัญหานี้ควรจะหาทางออกอย่างไร
๓. ไปหาทนาย หรือผู้ไกล่เกลี่ย ตามคำแนะนำของ Het Juridisch Loket
๔. ถ้ารายได้น้อย บอกให้ทนาย หรือผู้ไกล่เกลี่ยยื่นขอ Gesubsidieerde Rechtsbijstand ให้ และหากต้องการล่าม ก็ให้ระบุไปด้วย ในตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกับทนายความ หรือผู้ไกล่เกลี่ยเลย
๕. ทนายความ หรือผู้ไกล่เกลี่ยจะดำเนินเรื่องยื่นขอ Gesubsidieerde Rechtsbijstand หรือ toevoeging ให้เรา
*** Gesubsidieerde Rechtsbijstand หรือ Toevoeging เป็นความช่วยเหลือจากรัฐในรูปแบบของเงินช่วยเหลือบางส่วนเท่านั้น มิใช่ครอบคลุมทั้งหมด — ทั้งนี้หมายความว่าคุณยังคงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบางส่วนด้วยตัวคุณเอง ที่เรียกว่า ค่าสมทบ หรือ eigen bijdragen ***
*** ในกรณีได้รับแบ่งทรัพย์สิน หากได้รับเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่รัฐกำหนด มีความเป็นไปได้สูงทีอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเอง ซึ่งเรื่องนี้จะมีการพิจารณาตามมาทีหลัง ภายหลังสิ้นสุดคดี ***
เรียบเรียงโดย วัชรี กสิบาล (W. Kasiban)
บรรณาธิการ เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ (Y. Wongsuwan)
ยุพิน ขุนรองชู (Y. Khunrongchu)
ภาพโดย สุกานดา ศรีเสน่ห์พร (S. Srisaneporn)
เรียบเรียงจากการอบรมในหัวข้อ Internationaal Privaat Recht, Hoofdlijnen van het Nationaal en Internationaal Famillierecht โดย Dr.I. Curry Sumner จัดขึ้น ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
อ่านตอนที่ ๑ – การหย่าร้าง (Echtscheiding) ได้ที่นี่
อ่านตอนที่ ๒ – ข้อตกลงการหย่าร้าง (Het echtscheidingsconvenant) ได้ที่นี่
การแต่งงาน (Huwelijk) ตามกฎหมายดัตช์นั้น มีได้ 2 แบบด้วยกันคือ
1. การแต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส หรือที่เรียกว่าเป็นการแต่งงานตาม De wettelijke gemeenschap van goederen
2. การแต่งงานแบบมีสัญญา หรือการแต่งงานแบบ Huwelijkse voorwaarden
อ่านเพิ่มเติมเรื่องความแตกต่างระหว่างการอยู่ร่วมกันแบบต่างๆ ตามกฎหมายดัตช์ได้ที่นี่ ข้อตกลงอยู่ด้วยกัน และสัญญาก่อนแต่งงาน (Samenlevingscontract & Huwelijkse voorwaarden)
ดังนั้นเมื่อคู่สามี-ภรรยาต้องการจะหย่าร้างกัน การแบ่งสินสมรสจึงขึ้นอยู่กับประเภทของการแต่งงาน โดยเป็นไปดังต่อไปนี้
4.1 การแบ่งสินสมรสจากการแต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส ( Verdeling gemeenschap van goederen)
การแต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรสนี้ เป็นการแต่งงานแบบรวมสินสมรส หมายความว่า ทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สามี-ภรรยาที่มีมาก่อน และในระหว่างที่แต่งงานกัน จะถูกนำมารวมเป็น “สินสมรส” ทรัพย์สินนี้รวมถึงมรดกที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้รับ และผู้ให้มรดกไม่ได้ตั้งเงื่อนไขระบุว่าให้เฉพาะผู้รับมรดกแบบเจาะจงเท่านั้น (uitsluitingsclausule)
การแบ่งทรัพย์สินในบ้าน (Boedelverdeling) เช่น เครื่องใช้ไม้สอย เงินบำนาญเกษียณอายุ หนี้สิน เงินออมที่ฝากธนาคาร และเงินประกัน สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกแบ่งคนละครึ่ง
หนี้สินที่เกิดจากการกู้ซื้อบ้าน ก็ต้องแบ่งรับภาระคนละครึ่งเช่นกัน (ถึงแม้ว่าบ้านนั้นจะซื้อก่อนการแต่งงาน หรือมีชื่อเป็นผู้กู้เงินเป็นเพียงชื่อฝ่ายใดแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม)
มีข้อยกเว้นในทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่รวมเป็นสินสมรส เช่น ทรัพย์สินที่ได้มาจากมรดก สินสิเน่หา และเจ้าของมรดกได้เขียนระบุไว้ในพินัยกรรมว่า ทรัพย์สินนั้นจะไม่ถูกรวมเป็นสินสมรสหากทายาทผู้รับมรดกของตนแต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส หรือที่เรียกว่า een uitsluitingsclausule in zijn of haar testament
เนื่องด้วยการแบ่งสินสมรสจากการแต่งงานแบบนี้ มีความยุ่งยากมาก และอาจมีความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างมาก จึงขอแนะนำว่า คู่สามี-ภรรยาที่แต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส หากต้องการจะหย่า ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง (mediator) เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น
4.2 การแบ่งสินสมรสจากการแต่งงานแบบมีสัญญาก่อนสมรส (Afwikkeling huwelijkse voorwaarden)
สัญญาก่อนสมรสนี้กระทำขึ้นก่อนหรือระหว่างการสมรสใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน โดยปกติหากกระทำสัญญานี้เกิดขึ้นในระหว่างการสมรส มักเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มทำธุรกิจเป็นของตนเอง
สัญญาก่อนสมรสนี้จะทำให้ทรัพย์สิน และหนี้สินบางอย่าง ได้รับยกเว้น ไม่ถูกรวมอยู่ใน “สินสมรส” และเมื่อหากเกิดการหย่าร้างกันขึ้น ทรัพย์สินและหนี้สินเหล่านั้น ก็จะยังเป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่เพียงผู้เดียว ไม่ถูกนำมาร่วมแบ่งด้วย
4.2.1 รูปแบบของสัญญาก่อนสมรส
สัญญาก่อนสมรสจะเป็นรูปแบบใดขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทั้งสองฝ่าย โดยทั่วไปสัญญาก่อนสมรสจะมีสามรูปแบบ คือ
1) Koude uitsluiting
สัญญาก่อนสมรสแบบนี้ ทั้งคู่ต่างไม่มีทรัพย์สินใดที่เป็น “สินสมรส” ร่วมกันเลย ต่างฝ่ายต่างมีทรัพย์สินส่วนตัว และรับผิดชอบในสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นของตน สัญญาก่อนสมรสแบบนี้ อาจมีข้อยกเว้นก็เฉพาะการแบ่ง “เงินบำนาญ” ที่ทั้งสองฝ่ายสะสมระหว่างสมรสเท่านั้น
2) Beperkte gemeenschap
สัญญาก่อนสมรสชนิดนี้ จะจำกัดทรัพย์สินและหนี้สินบางอย่างให้เป็น “สินสมรส” ร่วมกัน ทรัพย์สินและหนี้สินส่วนอื่นนับเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย
3) ระบบการแบ่งสินสมรส (Verrekenstelsels)
ประเภทของการแบ่งภายใต้ระบบการแบ่งสินสมรสจะส่งผลต่อการแบ่งและจ่ายสินสมรส การแบ่งและจ่ายสินสมรสนี้จะเป็นการตกลงกันโดยคำนึงถึงรายได้ และมูลค่าของทรัพย์สิน โดยทั่วไปจะมี 2 รูปแบบด้วยกันคือ
3.1) Periodiek verrekenbeding การแบ่งสินสมรสในรูปแบบนี้ จะนับว่า ก่อนแต่งงาน ทรัพย์สินและหนี้สินที่แต่ละฝ่ายมีนั้น ถือเป็น “สินส่วนตัว” ของแต่ละฝ่าย แต่หลังจากแต่งงานกันแล้ว รายได้หรือทรัพย์สินที่ได้มาในช่วงระยะเวลาที่อยู่ด้วยกันจะนับเป็น “สินสมรส” โดยนำเงินรายได้ที่เหลือ หลังการหักค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของทั้งคู่ มาเฉลี่ยแบ่งกันคนละครึ่ง การแบ่งแบบนี้จะกระทำทุกๆ สิ้นปี –การแบ่งสินสมรสแบบนี้ มิได้คำนึงถึงหนี้สิน คิดเฉพาะรายได้ และทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่แต่งงานอยู่ด้วยกันในแต่ละปีเท่านั้น
3.2) Finaal verrekenbeding การแบ่งสินสมรสในรูปแบบนี้ จะคล้ายกับแบบ Periodiek verrekenbeding ในแง่ที่ว่า จะนับว่า ก่อนแต่งงาน ทรัพย์สินและหนี้สินที่แต่ละฝ่ายมีนั้น ถือเป็น “สินส่วนตัว” ของแต่ละฝ่าย แต่หลังจากแต่งงานกันแล้ว รายได้หรือทรัพย์สินที่ได้มาในช่วงระยะเวลาที่อยู่ด้วยกันจะนับเป็น “สินสมรส” แต่สินสมรสนี้จะมีการแบ่งก็ต่อเมื่อมีการหย่าเกิดขึ้นเท่านั้น (ไม่ได้แบ่งทุกปีเหมือนแบบแรก) สินสมรสในที่นี้ จะรวมทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน หักลบออกจากกันจำนวนที่เหลือนำมาแบ่งคนละครึ่ง ต่างฝ่ายต่างรับผิดชอบต่อทรัพย์สินและหนี้สินนั้นไปอย่างละครึ่ง – การแบ่งสินสมรสแบบนี้ จะใกล้เคียงกับการแบ่งสินสมรสตามกฎหมายการหย่าร้างของประเทศไทย
ในทางปฏิบัตินั้น คู่สมรสสามารถเลือกใช้การแบ่งแบบทุก ๆ ปี แบบครั้งเดียว หรือทั้งสองแบบรวมกันได้ การเลือกทั้งสองแบบนั้น จะช่วยแก้ปัญหากรณีการแบ่งตามรอบระยะเวลาไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์หรือต่อเนื่อง – สัญญาก่อนสมรสเป็นนิติกรรมที่ต้องมีการจัดทำโดยทนายความนิติกรรม (Notaris)
ในเมืองใหญ่ๆ ในเนเธอร์แลนด์ บ้านพักที่อยู่อาศัยมีราคาแพง และมีความขาดแคลน ถึงขนาดในบางเมืองประชาชนต้องรอคิวเป็นปีเพื่อให้มีสิทธิ์ในการเข้าอยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ ดังนั้นการหย่าจึงมีผลกระทบต่อสิทธิในที่อยู่อาศัย เนื่องจากเมื่อมีการหย่าเกิดขึ้น ฝ่ายหนึ่งจะต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่
ซึ่งการแบ่งสิทธิในที่อยู่อาศัยเนื่องจากการหย่านั้น นอกจากจะแบ่งตามประเภทของอสังหาริมทรัพย์นั้น เช่น บ้านซื้อ (koopwoning) หรือบ้านเช่า (huurwoning) แล้ว ยังต้องแบ่งตามประเภทของการแต่งงานอีกด้วย เช่น แต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส (gemeenschap van goederen) หรือแต่งงานแบบมีสัญญาก่อนสมรส (huwelijkse voorwaarden)
5.1 สิทธิในที่อยู่อาศัยในบ้านซื้อ (Echtscheiding en koopwoning)
บ้านเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ต้องแบ่งเมื่อเกิดการหย่าร้างขึ้น นอกจากต้องคำนึงถึงความยุติธรรมและยังต้องคำนึงถึงเรื่องของภาษีอีกด้วย โดยการแบ่งที่อยู่อาศัยเนื่องจากการหย่า จะขึ้นอยู่กับประเภทของการแต่งงานดังนี้
5.1.1 แต่งงานแบบไม่มีสัญญาก่อนสมรส (gemeenschap van goederen)
การแต่งงานแบบนี้ ถือว่า บ้านที่ทั้งคู่อยู่อาศัยร่วมกันนั้นเป็น “สินสมรส” สามี-ภรรยาทั้งคู่เป็นเจ้าของร่วมกัน (ถึงแม้ว่าบ้านหลังนั้น ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวจะซื้อมาก่อนที่จะแต่งงานกันก็ตาม) เมื่อต้องการหย่าร้างกัน การแบ่งบ้านที่อยู่อาศัยจากการแต่งงานแบบนี้ โดยทั่วไป กระทำได้ 3 ทางคือ
1. ขายบ้านให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถือครองบ้านแต่เพียงผู้เดียว
3. ทั้งคู่ต่างเป็นเจ้าของบ้าน ถือครองไว้ในระยะเวลาหนึ่ง
การที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความต้องการของทั้งสองฝ่าย และต้องคำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจด้วย ในกรณีขายบ้าน พึงตระหนักว่า หากบ้านยังติดจำนองธนาคารอยู่นั้น รายได้จากการขายบ้านต้องถูกนำมาชำระแก่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ก่อนเป็นลำดับแรก กำไรที่ได้ (overwaarde) หรือกรณีขาดทุน (onderwaarde) มูลค่านั้น ๆ จะถูกนำมาแบ่งคนครึ่ง
หากเลือกทางที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถือครองบ้านแต่เพียงผู้เดียว ฝ่ายที่ถือครองต่อนั้น ต้องซื้อสิทธิของอีกฝ่ายออก หลักการคร่าว ๆ คือ มูลค่าของบ้านตามราคาตลาด (taxatie) หรือตาม WOZ waarde จะถูกหักออกด้วยจำนวนเงินค้างจำนอง (กรณียังติดจำนองอยู่) ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นกำไร หรือขาดทุน จะถูกนำมาแบ่งครึ่ง ฝ่ายที่อาศัยอยู่ต่อจะต้องชำระมูลค่าครึ่งหนึ่งนั้นให้แก่ฝ่ายที่ออกจากบ้าน ที่สำคัญฝ่ายที่ประสงค์จะถือครองบ้านต่อนั้น ต้องมีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าจำนองบ้านรายเดือนแก่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ด้วย
ในกรณีถือครองบ้านร่วมกันต่อด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่นั้นนั้น ทั้งสองฝ่ายสมควรทำข้อตกลงต่อกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย รวมถึงระยะในการถือครองร่วมกัน สมควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างรอบคอบ เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบทางด้านภาษี
5.1.2 แต่งงานแบบมีสัญญาก่อนสมรส (huwelijkse voorwaarden)
การแต่งงานแบบนี้ เป็นการแยกสินสมรสก่อนแต่งและหลังแต่งอย่างเด็ดขาด ดังนั้นหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นเจ้าของบ้าน และได้มาก่อนการแต่งงาน หากเกิดการหย่าร้างขึ้น บ้านหลังนั้นก็ยังคงมีกรรมสิทธิ์คงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าหากบ้านหรือที่อยู่อาศัยนั้น ซื้อมาในระหว่างการใช้ชีวิตสมรสร่วมกัน เมื่อเกิดการหย่าร้าง การแบ่งสิทธิในที่อยู่อาศัย ก็ให้เป็นไปตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสของทั้งคู่สามี-ภรรยานั้น
5.2 สิทธิในที่อยู่อาศัยในบ้านเช่า (Huurwoning en echtscheiding)
คู่สามี-ภรรยาที่อาศัยอยู่ร่วมกันในทีอยู่อาศัยที่เป็นลักษณะของการเช่า จะถือว่า และมีสิทธิเทียบเท่าเป็น “ผู้เช่าร่วม (medehuurder)” ถึงแม้ว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่เคยเซ็นในสัญญาเช่าร่วมกันก็ตาม โดยสิทธิในที่อยู่อาศัยในบ้านเช่านี้ ทั้งคู่สามี-ภรรยา มีสิทธิเท่าเทียมกัน เมื่อต้องการหย่าร้างกัน การแบ่งว่าใครมีสิทธิในที่อยู่อาศัยแบบเช่า จึงไม่ต้องนำประเภทของการแต่งงานมาพิจารณา
ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะมีสิทธิในการอยู่อาศัยต่อในบ้านเช่าเดิมนั้น อาจส่ง (ยื่น) เรื่องให้ศาลพิจารณาได้ โดยส่วนใหญ่ศาลจะให้น้ำหนักสิทธิแก่ผู้ปกครองที่มีสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรเป็นหลัก
เว็บไซต์เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม
เรียบเรียงโดย เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ (Y. Wongsuwan)
วัชรี กสิบาล (W. Kasiban)
บรรณาธิการ ยุพิน ขุนรองชู (Y. Khunrongchu)
ภาพโดย สุกานดา ศรีเสน่ห์พร (S. Srisaneporn)
เรียบเรียงจากการอบรมในหัวข้อ Internationaal Privaat Recht, Hoofdlijnen van het Nationaal en Internationaal Famillierecht โดย Dr.I. Curry Sumner จัดขึ้น ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
อ่านตอนที่ ๑ – การหย่าร้าง (Echtscheiding) ได้ที่นี่
นอกเหนือจากการยื่นคำร้องขอหย่าที่เรียกว่า verzoekschrift tot echtscheiding แล้วนั้นคู่สามีภรรยาจะต้องทำการยื่นข้อตกลงการหย่าร้างประกอบต่อศาลในการดำเนินการหย่าด้วยเช่นกัน เรียกว่า Het echtscheidingsconvenant ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างคู่สามีภรรยาเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญต่าง ๆ ดังเช่น ที่อยู่อาศัย ค่าเลี้ยงดู ทรัพย์สิน และเงินบำนาญ
และในกรณีคู่สามีภรรยามีบุตรธิดาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะร่วมกันแล้วนั้น ข้อตกลงการหย่าร้างจะต้องระบุแผนการเลี้ยงดูบุตรในนั้นด้วย หัวข้อหลัก ๆ ในข้อตกลงการหย่าร้างมีดังนี้
1. แผนการเลี้ยงดูบุตร (Ouderschapsplan)
2. ค่าเลี้ยงดูคู่ครอง (Partneralimentatie)
3. เงินบำเหน็จบำนาญ (Pensioenrechten)
4. การแบ่งทรัพย์สินตามกฎหมายสินสมรส (verdeling volgens huwelijksvermogensrecht)
5. สิทธิในทีอยู่อาศัยเนื่องจากการหย่า (huisvesting หรือ woonrecht)
บทความในตอนนี้จะอธิบายเฉพาะหัวข้อหลักในข้อตกลงการหย่าร้างในข้อที่ 1-3 เท่านั้น ส่วนหัวข้อที่ 4-5 สามารถอ่านต่อได้ที่นี่
ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2009 กฎหมายดัตช์บังคับว่า คู่สามี-ภรรยา หรือคู่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ที่มีบุตรร่วมกัน และบุตรนั้นอายุต่ำกว่า 18 ปี หากประสงค์จะหย่าร้างกัน หรือประสงค์ที่จะแยกกันอยู่แบบ scheiden van tafel en bed จะต้องทำแผนการเลี้ยงดูบุตร (Ouderschapsplan)
จุดประสงค์ของแผนการเลี้ยงดูบุตร (Ouderschapsplan) ก็เพื่อให้ผู้ปกครองคำนึงถึง และมีแผนรองรับผลกระทบการหย่าร้างที่จะมีผลต่อบุตร แผนการเลี้ยงดูบุตรนี้ ผู้ปกครองทั้งคู่จะมีแผนการจัดการเกี่ยวกับทั้งในปัจจุบันและอนาคตของบุตร
รายละเอียดภายในแผนการเลี้ยงดูบุตรจะขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคู่บิดามารดา แต่อย่างน้อยต้องครอบคลุมและมีการตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับ
– อำนาจปกครองบุตร หรือที่เรียกว่า ouderlijke gezag ซึ่งตามกฏหมายนั้นบิดามารดามีอำนาจปกครองบุตรเท่าเทียมกัน ในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ฝ่ายนั้นต้องยื่นร้องขออำนาจต่อศาลต่างหาก แต่การยุติอำนาจปกครองของอีกฝ่ายมิใช่ป็นเรื่องที่ศาลจะอนุมัติให้อย่างง่ายๆ จะอนุมัติก็เฉพาะกรณีจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น
– ที่อยู่อาศัยหลักของบุตร หรือที่เรียกว่า hoofdverblijf (ตามทะเบียนราษฎร์) และการเลี้ยงดูบุตร
– ข้อตกลงในการพบเจอบุตร (omgangsregeling) บุตรมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะติดต่อกับทั้งบิดาและมารดาของตน
– วิธีการที่บิดามารดาจะแจ้งข้อมูลถึงพัฒนาการของบุตรให้แก่กันและกันทราบ และการปรึกษาหารือซึ่งกันและกันในเรื่องที่สำคัญๆ เกี่ยวกับตัวบุตร อย่างเช่นเรื่องโรงเรียน การรักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย
– ค่าเลี้ยงดูบุตร (Kinderalimentatie) และภาระค่าใช้จ่ายของบุตรธิดา ผู้ปกครองตามกฏหมายแล้วนั้นมีหน้าที่จะต้องส่งเสียบุตรธิดาจนกว่าอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ในกรณีที่บุตรธิดาหลังอายุครบ 21 ปี ยังคงศึกษาเล่าเรียนอยู่นั้นผู้ปกครองอาจส่งเสียบุตรธิดาต่ออีกระยะหนึ่งได้ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ข้อกำหนดตามกฏหมาย (กฏหมายไม่บังคับ) แต่เป็นการส่งเสียตามจริยธรรมของความเป็นบิดามารดา ผู้ปกครองที่บุตรธิดาไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่ผู้ปกครองอีกฝ่ายเพื่อนำมาใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรธิดา และค่าเลี้ยงดูนี้จะมีการปรับเปลี่ยนตามดัชนีในตอนต้นปีของทุก ๆ ปี บุตรธิดาเมื่ออายุครบสิบแปดปีจนกระทั่งถึง 21 ปี มีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงดูจากผู้ปกครองโดยตรง นอกเหนือจะมีการตกลงเป็นอย่างอื่น
ค่าเลี้ยงดูบุตรคำนวณบนพื้นฐานความจำเป็นของบุตร โดยคำนึงถึง อายุ จำนวนบุตรธิดา และสภาพความเป็นอยู่ของบุตรในระหว่างชีวิตครอบครัวกับบิดามารดา แต่ต้องคำนึงด้วยว่าบิดามารดาที่บุตรธิดาอาศัยอยู่ด้วยนั้นมีภาระหน้าที่ตามกฏหมายในค่าใช้จ่ายของบุตรธิดาด้วยเช่นกัน และต้องสมทบค่าใช้จ่ายของบุตรธิดาตามสัดส่วนความสามารถในการจ่าย สำหรับเงินช่วยเหลือสำหรับเด็กจากรัฐบาล ดังเช่น เงินเบี้ยเลี้ยงเด็ก (kinderbijslag) และเงินสมทบสำหรับเด็ก (kindgebonden budget) ผู้ปกครองที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยเป็นผู้รับเพื่อนำมาใช้จ่ายสำหรับบุตรธิดาของตน
– ข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งวันหยุดภาคเรียน วันหยุดเทศกาล และวันพิเศษอื่น ๆ และการแบ่งหน้าที่ส่วนร่วมของบิดามารดาในกิจกรรมโรงเรียน
– นอกจากนี้แผนการเลี้ยงดูบุตรยังรวมถึงแผนการการจัดการเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ของบุตรธิดา ที่ตามกฎหมายแล้วต้องได้รับความยินยอมจากทั้งบิดาและมารดา เช่น การขอวีซ่า การทำพาสปอร์ต บัตรประชาชน การรักษาพยาบาล และการเก็บรักษาเอกสารสำคัญเหล่านี้
เนื่องจากการจัดทำแผนการเลี้ยงดูบุตรนี้ กระทำในช่วงเวลาของการดำเนินการหย่าร้าง ซึ่งมีหลายเรื่องต้องดำเนินการไปคู่กัน ดังนั้นมีคำแนะนำว่าสมควรกระทำผ่านความช่วยเหลือจาก “คนกลาง” (mediator) โดยคนกลางจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับบุตรทั้งแผนในปัจจุบันและอนาคต
คู่สามี-ภรรยา หากเมื่อหย่าร้างกัน ฝ่ายที่มีสถานะทางการเงินด้อยกว่า สามารถร้องขอต่อศาลให้อีกฝ่ายจ่ายค่าเลี้ยงดู (Partneralimentatie) ให้แก่ตนได้ ตาม Titel 9, Afdeling 2, Artikel 157
ศาลสามารถตัดสินให้คู่สามี-ภรรยาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ ได้รับค่าเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ ศาลจะพิจารณาจำนวนเงินค่าเลี้ยงดูที่อีกฝ่ายจะต้องจ่ายตาม Behoefte en Draagkracht Behoefte — ในที่นี้หมายถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพสำหรับฝ่ายที่เรียกร้องค่าเลี้ยงดูโดยคำนึงถึงลักษณะการใช้ชีวิตของบุคคลระหว่างสมรส และ Draagkracht — คือความสามารถในการจ่ายค่าเลี้ยงดูของฝ่ายที่ถูกเรียกร้องค่าเลี้ยงดู
ศาลจะกำหนดจำนวนเงินค่าเลี้ยงดูที่จะต้องจ่ายจากจำนวนเงินสุทธิ….เหลือจากการหักลบค่าใช้จ่ายหลักในการดำรงชีพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และค่าประกันสุขภาพของผู้ที่มีหน้าที่จ่าย ค่าใช้จ่ายสำคัญเหล่านี้รวมกันเรียกว่า draagkrachtloos inkomen เป็นเงินรายได้ที่ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูจำเป็นต้องมีไว้เพื่อการดำรงชีพของตนและไม่สามารถจะนำมาจ่ายค่าเลี้ยงดูได้ หากหลังการหักลบแล้วปรากฏว่ายังคงมีจำนวนเงินหลงเหลืออยู่บุคคลจึงจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู
การกำหนดจำนวนเงินค่าเลี้ยงดูนี้เป็นเรื่องซับซ้อน จึงต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่นทนาย หรือคนกลาง โดยใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า Trema-normen
ภาระหน้าที่ในการจ่ายค่าเลี้ยงดูจะเป็นระยะเวลาสูงสุด 12 ปี แต่หากแต่งงานกันไม่ถึง 5 ปี ภาระหน้าที่ในการจ่ายค่าเลี้ยงดูจะเป็นระยะเวลาตามเวลาที่เคยอยู่ร่วมกัน และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ถือว่าภาระในการจ่ายค่าเลี้ยงดูสิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน
ภาระหน้าที่ในการจ่ายค่าเลี้ยงดูอาจสิ้นสุดลงก่อนเวลาได้ หากฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงดูมีพันธะกับคนใหม่ เช่น อยู่ร่วมกัน แต่งงานกัน หรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ กับคนอื่น (Titel 9, Afdeling 2, Artikel 160)
การหย่าร้าง มีหลายเรื่องให้ต้องจัดการ นอกจากเรื่องการแบ่งสินสมรส การเลี้ยงดูบุตร เงินค่าเลี้ยงดูต่างๆ แล้ว ยังต้องมีการจัดการเรื่องของเงินบำนาญ (pensioen) ด้วย
เงินบำนาญที่ต้องจัดการตามการหย่าร้าง ในที่นี้จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ouderdomspensioen และ nabestaandenpensioen ส่วนเงินผู้สูงอายุ หรือเงินบำนาญพื้นฐาน (AOW) ไม่จำเป็นต้องแบ่งกันแต่อย่างใด
คู่สามี-ภรรยาถึงแม้ว่าจะหย่าร้างกันไปแล้ว แต่ก็ยังมีสิทธิ์ในเงินบำนาญของอีกฝ่าย โดยได้รับเป็นสัดส่วนตามระยะเวลาที่เคยอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่วนต่างเงินบำเหน็จบำนาญ ยกเว้นแต่ว่าคู่สามี-ภรรยานั้นได้มีการตกลงทำสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น
นอกเหนือจากการมีบำนาญแบบ ouderdomspensioen แล้ว ยังสามารถที่จะทำบำนาญแบบ nabestaandenpensioen โดยคู่สามี-ภรรยาอีกฝ่ายจะได้รับเงินบำนาญเมื่ออีกฝ่ายที่มีการทำบำนาญแบบ nabestaandenpensioen เสียชีวิตลง ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะหย่าร้างกันไปแล้วก็ตาม โดยจำนวนเงินที่ได้จะเป็นสัดส่วนไปตามระยะเวลาที่เคยแต่งงานอยู่ร่วมกัน
อ่านตอนที่ ๓ – ข้อตกลงการหย่าร้าง (Het echtscheidingsconvenant) – (ต่อ) ได้ที่นี่
Link เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม
เรียบเรียงโดย วัชรี กสิบาล (W. Kasiban)
บรรณาธิการ เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ (Y. Wongsuwan)
ยุพิน ขุนรองชู (Y. Khunrongchu)
ภาพโดย สุกานดา ศรีเสน่ห์พร (S. Srisaneporn)
เรียบเรียงจากการอบรบในหัวข้อ Internationaal Privaat Recht, Hoofdlijnen van het Nationaal en Internationaal Famillierecht โดย Dr.I. Curry Sumner จัดขึ้น ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
โครงสร้างของกฏหมายดัตช์
กฎหมาย (Recht) ของประเทศเนเธอร์แลนด์ แบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่ใหญ่ ๆ คือ กฎหมายเอกชน (Privaat recht หรือ Burgerlijk recht) และ กฎหมายมหาชน (publiekrecht)
ในส่วนของกฎหมายเอกชน มีแบ่งแยกออกเป็นหมวดหมู่ย่อยภายใต้ Burgerlijk Wetboek ซึ่งมีทั้งหมด 10 หมวดหมู่ย่อยด้วยกัน และกฎหมายครอบครัว (Personen- en familierecht) จะอยู่ใน Wetboek เล่มที่ 1
ซึ่งในแต่ละ Wetboek ก็มีแยกย่อยออกเป็น Titel (หัวข้อ) และแต่ละ Titel ก็แบ่งแยกย่อยเป็น Afdeling (หัวข้อย่อย) และแต่ละ Afdeling ก็แบ่งออกเป็น Artikel (มาตรา)อีกต่อหนึ่ง
สรุปเรียงลำดับหัวข้อในกฎหมายดัตช์จากใหญ่ไปหาเล็ก เป็นดังนี้
Privaatrecht –> Wetboek –> Titel –> Afdeling –> Artikel
ในบทความนี้จะกล่าวถึง กฎหมายเรื่องการหย่าร้าง (Echtscheiding) เป็นสำคัญ ซึ่งอยู่ใน Titel 9 Ontbinding van het huwelijk ใน Afdeling 2 Echtscheiding
การสิ้นสุดการสมรส (Ontbinding van het huwelijk in het algemeen)
การสิ้นสุดการสมรส สามารถสิ้นสุดได้ด้วยการ (Titel 9, Afdeling 1, Artikel 149)
ก. การตาย
ข. การเป็นบุคคลสาบสูญตามประกาศของกฎหมาย
ค. การหย่าร้าง
ง. การสิ้นสุดการสมรสโดยการแยกกันอยู่ ที่เรียกว่า scheiding van tafel en bed
การสิ้นสุดการสมรสด้วยการแยกกันอยู่ (Ontbinding van het huwelijk na scheiding van tafel en bed)
การสิ้นสุดการสมรสด้วยวิธีการแยกกันอยู่ หรือที่เรียกว่า Ontbinding van het huwelijk na scheiding van tafel en bed มีจุดเริ่มต้นมาจากศาสนา เนื่องด้วยศาสนาคริสต์มีความเชื่อว่า การแต่งงานคือความผูกพันธ์ไปชั่วชีวิต ไม่มีการหย่าร้าง ดังนั้นหากคู่สมรสใดต้องการจะสิ้นสุดชีวิตคู่ กฎหมายก็เปิดช่องให้สามารถแยกกันอยู่ได้ แต่ไม่หย่าขาดจากกัน – ปัจจุบัน การสิ้นสุดการสมรสด้วยวิธีนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ศาสนาคริสต์เท่านั้น คู่สมรสทุกคู่ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด สามารถยื่นเรื่องทำการแยกกันอยู่ด้วยวิธีนี้ได้
การแยกกันอยู่แบบ scheiding van tafel en bed โดยทั่วไป สถานภาพการสมรสจะสิ้นสุดลงเมื่อแยกกันอยู่ครบสามปี (Titel 10, Afdeling 2, Artikel 179)
อนึ่ง การสิ้นสุดการสมรสด้วยวิธี scheiding van tafel en bed สามารถกระทำได้เฉพาะ “คู่สมรส” ที่แต่งงานกันเท่านั้น คู่พาร์ทเนอร์ที่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ไม่สามารถทำการสิ้นสุดการเป็นพาร์ทเนอร์ด้วยวิธีนี้
การหย่าร้าง (Echtscheiding)
(Titel 9, Afdeling 2) การหย่าร้างเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแม้เพียงฝ่ายเดียว ยื่นความประสงค์ที่จะยุติชีวิตคู่ คู่สมรสที่ประสงค์จะหย่าร้าง จะสำเร็จได้ ต้องกระทำผ่านทนายความ (Advocaat) และได้รับการรับรองจากศาล (Rechtbank) เท่านั้น โดยกระบวนการทางศาลนี้เรียกว่า Echtscheidingprocedure
การหย่าร้างอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นด้วยการเขียนคำร้อง “Verzoekschrift tot echtscheiding” ผ่านทนายซึ่งเป็นคำร้องขอให้ศาลสั่งยุติการสมรส ศาลจะสั่งให้การสมรสยุติลงก็ต่อเมื่อเห็นว่า ชีวิตสมรสของทั้งคู่นั้นร้าวฉานจนไม่อาจหวนคืนกลับมาเป็นดังเดิมได้ (duurzaam ontwricht)
แต่เนื่องจากคู่สามี-ภรรยาที่ต้องการจะหย่าร้างกันนั้น ในช่วงระยะเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จะมีพันธะทั้งทางด้านการเงิน สินสมรส ธุรกิจ บุตร ให้ต้องจัดการแบ่งกันก่อนที่การหย่าร้างจะมีผลสมบูรณ์ และรวมถึงเรื่องค่าเลี้ยงดูหลังจากการหย่าร้างด้วย
ดังนั้นจึงต้องมีการยื่นคำร้องของ “verzoek tot vastlegging van een bijdrage in het levensonderhoud “ (การยื่นคำร้องเกี่ยวกับการจ่ายค่าเลี้ยงดูเพื่อให้อีกฝ่ายที่มีสถานะทางการเงินด้อยกว่า สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้) “verzoek tot verdeling van het vermogen” (คำร้องเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรส) และหากคู่สามี-ภรรยาที่ต้องการหย่าร้าง มีบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปีร่วมกัน กฎหมายบังคับว่าต้องทำ “Ouderschapsplan” (แผนการเลี้ยงดูบุตร) ด้วย
ระยะเวลาที่ใช้ในขั้นตอนนี้ หากเป็นการเลิกกันโดยสมัครใจของทั้งสองฝ่าย จะใช้เวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ และสามารถใช้ทนายคนเดียวกันได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวต้องการหย่า หรือคู่สามี-ภรรยาไม่สามารถทำข้อตกลงกันได้เกี่ยวกับพันธะหนึ่งใดดังกล่าวข้างต้น ทั้งคู่ต่างมีทนายเป็นตัวแทนของตนเอง กระบวนการนี้อาจยืดเยื้อได้เป็นปีๆ (เรียกว่า vechtscheiding)
ในระหว่างที่เดินเรื่องยื่นฟ้องหย่า หรือกำลังฟ้องหย่า คู่สามี-ภรรยาที่ต้องการหย่า สามารถยื่นเรื่องร้องผ่านทนาย ขอให้ศาลทำการตัดสินเร่งด่วน ในเรื่องด่วนที่บางครั้งรอไม่ได้ แต่เป็นคำตัดสินแบบชั่วคราวที่เรียกว่า “voorlopige voorziening” ได้ ซึ่งอาจเป็นการขอคำตัดสินเกี่ยวกับการพบเจอลูก ที่อยู่อาศัย หรือเงินค่าเลี้ยงดู และเมื่อใดที่มีการตัดสินออกมาตามกระบวนการทางศาลตามปกติแล้วนั้น คำตัดสินชั่วคราวก็จะหมดผลลง
สิ่งสำคัญ ในกรณีของการร้องขอ voorlopige voorziening ก่อนการฟ้องหย่านั้น ภายในสี่อาทิตย์หลังมีการตัดสินเกี่ยวกับ voorlopige voorziening คู่สามี-ภรรยาที่ได้ยื่นขอการตัดสินชั่วคราว จะต้องทำการยื่นคำร้อง “Verzoekschrift tot echtscheiding” ต่อศาลเพื่อดำเนินการฟ้องหย่าตามกระบวนการปกติ มิเช่นนั้นถือว่าคำตัดสินไม่มีผลตามกฏหมายแต่อย่างใด
คู่สามี-ภรรยาที่ต้องการหย่าร้างต้องทำการตกลงเรื่องค่าเลี้ยงดู การแบ่งสินสมรส และแผนการเลี้ยงดูบุตร กันโดยผ่านทนาย (advocaat) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย (คู่สามี-ภรรยาอาจจะใช้ทนายร่วมกันก็ได้ ในกรณีที่เป็นการเลิกจากกันด้วยดี) เมื่อตกลงกันได้เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นทนายจะจัดทำเอกสารที่เรียกว่า “Echtscheidingsconvenant” ยื่นส่งต่อศาล
เอกสาร “Echtscheidingsconvenant” จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อตกลงขอคู่สามี-ภรรยาที่ต้องการจะหย่า เกี่ยวกับเรื่องค่าเลี้ยงดู เรื่องผู้ดูแลบุตร สินทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และเงินบำนาญ
ผู้พิพากษามีหน้าที่ดูว่าเอกสาร “Echtscheidingsconvenant” นั้นมีรายละเอียดครบถ้วน เรียบร้อยดีหรือไม่ – ในกรณีนี้ผู้พิพากษาไม่มีหน้าที่ในการตัดสินว่าเอกสาร “Echtscheidingsconvenant” นั้นมีความยุติธรรมหรือไม่
แต่หากตกลงในส่วนใดส่วนหนึ่งกันไม่ได้ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถยื่นเรื่องให้ผู้พิพากษาทำการตัดสินได้ และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ก็สามารถทำเรื่องขออุทธรณ์คำตัดสิน (hoger beroep) ได้ ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์คือภายในสามเดือนนับจากวันพิพากษา ในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาปรากฏตัวที่ศาลเพื่อการตัดสิน ให้นับจากวันที่คู่กรณีได้รับแจ้งข่าวอย่างเป็นทางการ
การหย่าร้างจะมีผลอย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อคำประกาศการหย่าโดยคำพิพากษาของศาลได้รับการลงทะเบียนในฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์ (de burgerlijke stand) แล้วเท่านั้น โดยทนายความจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับจากศาลมีคำพิพากษา หากมิเช่นนั้นแล้วจะนับว่าการหย่าร้างเป็นโมฆะ
คลิกเพื่ออ่าน ตอนที่ ๒ – ข้อตกลงการหย่าร้าง(Het echtscheidingsconvenant) ๑
Link เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม
เรื่องและภาพโดย ปูชิตา รักวิทย์
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ตัวแทนสมาคมล่ามและนักแปลไทย-ดัตช์ อันประกอบด้วย นางปูชิตา รักวิทย์, นางยุพิน ขุนรองชู, นางรุจิวรรณ สุระนันท์ และนางสาวประภาพันธ์ วงษ์เสรี ได้ร่วมลงนามถวายความอาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร
และเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมาคมล่ามและนักแปลไทย-ดัตช์ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยในเนเธอร์แลนด์ทุกท่านน้อมถวายความอาลัย รวมพลังร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๖ พฤศจิกายน ณ Dam Square (ฝั่งพระราชวัง) กรุงอัมสเตอร์ดัม ในเวลา ๑๑.๓๐ – ๑๒.๓๐ น. (กรุณามาถึงก่อน ๑๑.๐๐ น. เพื่อเตรียมความพร้อม) การแต่งกาย ชุดสีดำ หรือสีทึบ สุภาพ พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ (ถ้ามี)
แปลและเรียบเรียงโดย ปูชิตา รักวิทย์
จากใจผู้แปลและเรียบเรียง
เนื่องจากได้บรรลุเป้าหมายแล้ว ในการนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายงานแปลข้อสอบไปมอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนัก เรียนโรงเรียนสตรีพังงา ตอนนี้จึงเห็นสมควรที่จะนำข้อสอบมาเผยแพร่ลงเว็บเพื่อเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนต่อไป โดยให้ดาวน์โหลดฟรี และหากใครอยากช่วยสมาคมฯ มอบให้เป็นน้ำใจ ก็โอนมาได้ตามเลขที่บัญชี นี้ NL55ABNA 0411 2755 93 t.n.v. VERG TOLKEN EN VERTALERS te Utrecht
แปลและเรียบเรียงโดย ปูชิตา รักวิทย์
ซึ่งการรับมรดกตามกฎหมายเนเธอร์แลนด์นั้นมีด้วยกันทั้งหมด ๓ แบบ คือ การรับมรดกโดยไม่มีเงื่อนไข การรับมรดกภายใต้เงื่อนไขพิเศษ และการปฏิเสธไม่รับมรดก
๑.. การยอมรับมรดกโดยไม่มีเงื่อนไข (zuiver aanvaarding)
ผู้รับมรดกมีสิทธิในทรัพย์สินและรับผิดชอบหนี้สินทั้งหมด ในกรณีที่มีทรัพย์สินไม่พอที่จะชำระหนี้ ผู้รับมรดกต้องนำสิ่งที่ตนมีในครอบครองมาชำระหนี้
ตัวอย่างเช่น หากผู้เสียชีวิตมีทรัพย์สิน สินทรัพย์รวมกันทั้งหมดเป็นเงิน 10,000 ยูโร หากแต่มีหนี้สิน 25,000 ยูโร ทายาทที่รับมรดกจะต้องรับผิดชอบหนี้สินของผู้เสียชีวิตจำนวนที่เกินมาอีก 15,000 ยูโร (25,000 – 10,000 = 15,000) ด้วย
๒. การรับมรดกภายใต้เงื่อนไขพิเศษ (beneficiaire aanvaarding)
ผู้รับมรดกที่เลือกเงื่อนไขนี้ จะมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน และเลือกรับผิดชอบหนี้สินจำกัด โดยจะรับผิดชอบหนี้สินไม่มากไปกว่าที่ได้รับมา โดยผู้รับมรดกสามารถตรวจสอบหาข้อมูลในทรัพย์สินที่ผู้เสียชีวิตมอบให้และดำเนินการดังเช่นเป็น ตัวแทน แต่ยังไม่เป็นผู้รับมรดก
ตัวอย่างเช่น หากผู้เสียชีวิตมีทรัพย์สิน สินทรัพย์รวมกันทั้งหมดเป็นเงิน 10,000 ยูโร หากแต่มีหนี้สิน 25,000 ยูโร ทายาทที่เลือกรับมรดกโดยวิธีนี้ รับผิดชอบหนี้สินของผู้เสียชีวิตในจำนวนจำกัดไม่เกินไปกว่ามูลค่าของมรดกที่ได้รับมาคือ 10,000 ยูโร
ในกรณีที่เลือกวิธีนี้ พึงตระหนักว่า อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น และผลอันไม่พึงปรารถนาตามมา เพื่อให้การรับมรดกเสร็จสิ้นสมบรูณ์ เช่น ในกรณีที่ผู้เสียชีวิตมีหนี้สินสูงมาก ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นทางการ เช่น ข้าวของทุกอย่างต้องมีการนำออกจำหน่ายในที่สาธารณะ นำออกประมูล เป็นต้น
๓. การปฏิเสธไม่รับมรดก (Verwerpen)
ผู้รับมรดกที่ปฏิเสธในการรับมรดก จะไม่มีสิทธิในทรัพย์สิน แต่ก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินใดใดทั้งสิ้นที่ผู้เสียชีวิตทิ้งไว้ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะไม่ถูกคาดหวังว่าเป็นผู้รับมรดก บุตรของผู้เสียชีวิตก็จะมาแทนที่ผู้ปฏิเสธ
ในการเลือกวิธีที่ ๒ และ ๓ ต้องมีเอกสารแจ้งเจตจำนงค์จากศาลเป็นลายลักษณ์อักษร จำเป็นต้องมีการจัดทำโดยนักกฎหมายนิติกรรม ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลอย่างน้อย ๙๖.๐๐ ยูโร
ภาษีมรดก ( Successierechten)
ภายใน ๘ เดือนหลังจากการเสียชีวิตต้องมีการยื่นเสียภาษีมรดก ที่สำนักงานภาษี เว้นเสียแต่ว่ามีการเลื่อนระยะเวลาจากสำนักงานภาษี หรือทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตที่ต้องชำระภาษีมรดก อาจทำให้เป็นหนี้ ก็จะถูกกำหนดให้เป็นที่ทราบกัน