เหลียวหลัง แลหน้า การทำงานอาสาสมัครของคนไทยในต่างแดน

เรียบเรียงโดย วัชรี กสิบาล ปูชิตา รักวิทย์ เรียบเรียงจากการบรรยายในหัวข้อ “เหลียวหลัง แลหน้า การทำงานอาสาสมัครของคนไทยในประเทศเยอรมนี” ของ ดร.พัทยา เรือนแก้ว ประธานสมาคม NTO ที่งานสัมนา “เพื่อนคู่คิด พี่สอนน้อง” ณ เมืองมันไฮน์ วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ ถึงแม้ว่าการบรรยายครั้งนี้ ผู้บรรยายจะกล่าวถึงผลของงานวิจัยจากการเก็บข้อมูลการทำงานอาสาสมัครของคนไทยในเยอรมนีเป็นสำคัญ แต่ผู้เรียบเรียงเห็นว่า เนื้อหาในการบรรยายนี้มีประโยชน์ และสามารถมาปรับใช้กับการทำงานอาสาสมัครไทยในต่างแดนประเทศอื่นๆ ได้   เหลียวหลัง ความเป็นมาของงานอาสาสมัครไทยในเยอรมนี งานอาสาสมัครไทยในเยอรมนีมักเริ่มขึ้นจากการเป็นล่าม โดยเมื่อช่วงศตวรรษที่ ๘๐ เมื่อมีหญิงไทยจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาประเทศเยอรมนี และบางส่วนของหญิงไทยเหล่านี้ ก็เข้ามาเพื่อทำงานค้าบริการทางเพศ หรือบ้างก็เข้ามาเพื่อแต่งงานกับชายชาวเยอรมันโดยผ่านสำนักงานจัดหาคู่ ทำให้ภาพพจน์ของหญิงไทยเป็นที่รู้จักในสังคมเยอรมันในขณะนั้นว่า เป็น “หญิงบริการทางเพศ” หรือไม่ก็ “เมียสั่งทางไปรษณีย์” และต่อมาเมื่อหญิงไทยเหล่านี้ ประสบปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ ล่ามจึงเป็นบุคลากรที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับตำรวจ และหน่วยงานราชการเยอรมนี เพื่อช่วยในการสื่อสารระหว่างหญิงไทยที่ประสบปัญหากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เนื่องจากองค์กรของเยอรมันที่ทำงานช่วยเหลือหญิงต่างชาติที่ประสบปัญหาในเยอรมนี ที่มีเจ้าหน้าที่คนไทยทำงานมีจำนวนจำกัด เมื่อหญิงไทยมีปัญหาจึงมักหันมาพึ่งเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเอง ที่มีความรู้ดี และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเยอรมัน